การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ และลำไส้ตรง เป็นขั้นตอนสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบและทันท่วงที โดยเฉพาะบริเวณลำไส้ตรงที่มีความซับซ้อนของการรักษา จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่า ในประเทศไทยมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย 16.2 ต่อประชากรแสนคน และอันดับ 4 ในเพศหญิง 11.2 ต่อประชากรแสนคน ความน่ากลัวของมะเร็งลำไส้ คือ ในระยะแรกจะไม่แสดงอาการ อาการจะเริ่มแสดงเมื่อก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ หรือผู้ป่วยอาจจะไม่ได้ใส่ใจในอาการที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทำให้ไม่สามารถตรวจพบในระยะเริ่มต้นได้ ทำให้รักษาได้ไม่ทันท่วงทีจึงนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด
การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ประกอบด้วยการผ่าตัด การให้ยาซึ่งอาจจะเป็นยาเคมีบำบัด ยาพุ่งเป้า หรือยาภูมิคุ้มกันบำบัด และอาจจะมีการฉายรังสีร่วมด้วย แต่ยังเน้นที่การผ่าตัดเป็นการรักษาหลัก โดยปัจจุบันการผ่าตัดที่ทำให้ฟื้นตัวได้ดีและได้ผลการรักษาที่ดี คือการผ่าตัดส่องกล้องแบบแผลเล็ก
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง เป็นโรคที่ผู้ป่วยหลายรายไม่รู้ตัวว่าตนเองเป็นอยู่เนื่องจากโรคนี้ต้องใช้เวลานานกว่าจะสามารถตรวจพบได้ ในส่วนของการรักษายังมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งตัวผู้ป่วยเอง การเข้าถึงการรักษาด้วยวิธีการต่าง ๆ วัสดุอุปกรณ์ที่แต่ละโรงพยาบาลมีความพร้อมแตกต่างกัน รวมถึงระบบการดูแลโรคร่วมอื่น ๆ ในผู้ป่วยที่สูงอายุ และนวัตกรรมในการรักษาใหม่ ๆ ที่ทันสมัยขึ้นตามโลกที่พัฒนาขึ้น
ในอดีตอัตราการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงระยะแพร่กระจายนั้นโอกาสที่หายขาดได้ค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะอวัยวะที่พบการแพร่กระจายได้บ่อย คือ มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงที่มีการลุกลามไปที่ตับ ซึ่งโอกาสในการผ่าตัดรักษาให้หายขาดมีอยู่เพียงร้อยละ 20 โดยประมาณของผู้ป่วยทั้งหมดที่มีมะเร็งแพร่กระจายไปที่ตับ จึงอาจกล่าวได้ว่าโรคดังกล่าวค่อนข้างเป็นปัญหาที่สำคัญ
การรักษา
การรักษามะเร็งโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงด้วยวิธีการต่าง ๆ นั้น มุ่งเน้นผลลัพธ์ที่ทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคและอยู่ได้นานมากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาหลังจากการรักษาได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ก็มีการพัฒนารูปแบบการรักษาให้ดีขึ้นเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปตามยุคสมัยที่มีเทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะการผ่าตัด ซึ่งมีการใช้การผ่าตัดแบบเจาะรูผ่านกล้องหรือ แบบแผลเล็ก หรืออาจจะเป็นที่เรียกกันทั่วไปว่า “การผ่าตัดส่องกล้อง” รวมถึงปัจจุบันมีการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ซึ่งเป็นทางเลือกในการรักษามะเร็งที่ลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง และทดแทนการผ่าตัดแบบดั้งเดิมที่เป็นแบบเปิดผนังหน้าท้องขนาดแผลใหญ่ โดยที่การผ่าตัดแบบแผลเล็กนี้จะลดภาวะแทรกซ้อนให้น้อยลง เจ็บปวดน้อยลง สามารถฟื้นตัวกลับไปทำงานใช้ชีวิต มีกิจวัตรประจำวันต่าง ๆ ได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิดซึ่งแผลผ่าตัดใหญ่กว่ามาก โดยที่ผลลัพธ์ของการรักษาไม่ว่าจะเป็นอัตราการรอดชีวิตหรืออัตราการเป็นซ้ำเท่ากัน
ลักษณะการผ่าตัด
นอกจากลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงแล้ว การผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็กได้มีการพัฒนาเครื่องมือ ระบบอุปกรณ์ ทำให้ในหลาย ๆ อวัยวะ มีใช้การผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็กในการผ่าตัดมะเร็งได้ผลดี ดังนั้นการผ่าตัดมะเร็งลำไส้ในระยะที่มีการกระจายไปยังอวัยวะอื่น ซึ่งสมัยก่อนการที่จะตัดมะเร็งให้หมดจำเป็นที่จะต้องตัดอวัยวะนั้น ๆ ออกด้วย และแผลที่เกิดจากการผ่าตัดบางครั้งเป็นคนละแผล หรือแม้ว่าจะเป็นแผลเดียวกันก็เป็นแผลที่ใหญ่มากขึ้นกว่าปกติ
โดยเฉพาะที่ตับซึ่งพบบ่อยว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงชอบแพร่กระจาย จะเป็นแผลขนาดใหญ่และรบกวนการใช้ชีวิตในระยะยาว ต่อมาจึงมีแนวคิดที่จะปรับแนวทางแผลผ่าตัดให้แผลมีขนาดเล็กลงทั้งสองอวัยวะโดยการผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งสามารถผ่าตัดพร้อมกันทั้งสองอวัยวะในครั้งเดียว หรือจะผ่าตัดแยกกันคนละครั้งก็ได้ โดยการผ่าตัดร่วมกันครั้งเดียวจะปรับแนวแผลโดยพยายามใช้รูที่เจาะใส่อุปกรณ์ใกล้เคียงกัน ซึ่งสามารถโยกอุปกรณ์จากบริเวณที่ผ่าตัดลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ส่วนช่องท้องด้านล่างขึ้นไป ผ่าตัดตับซึ่งอยู่บริเวณช่องท้องด้านบนได้ โดยยังคงใช้แผลที่เจาะรูใกล้เคียงกัน เพื่อลดขนาดบาดแผล จากแผลขนาดใหญ่ให้เล็กลงได้ เป็นที่มาว่าสามารถผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงที่กระจายไปที่ตับด้วยวิธีการผ่าตัดส่องกล้องพร้อมกันทั้งสองอวัยวะได้
ข้อบ่งชี้การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ที่แพร่กระจายไปที่ตับด้วยวิธีการผ่าตัดแบบเจาะรูผ่านกล้อง ได้แก่
- ร่างกายผู้ป่วยต้องมีความพร้อมหรือแข็งแรงพอที่จะทำการผ่าตัดทั้งสองอวัยวะได้
- ไม่มีการแพร่กระจายของตัวมะเร็งนอกเหนือจากสองอวัยวะนี้
- ตัวมะเร็งทั้งสองต้องไม่ติดกับอวัยวะข้างเคียงมากเกินไป โดยที่ตำแหน่งของมะเร็งสามารถผ่าตัดโดยใช้กล้องหรือการผ่าตัดแผลเล็กได้ทั้งสองระบบ ก็จะสามารถทำพร้อมกันได้
ปัญหาของมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงที่มีการแพร่กระจาย
มะเร็งไม่ได้มีการแพร่กระจายไปที่อวัยวะเดียว แต่มีการแพร่กระจายไปยังหลายอวัยวะ ทำให้การรักษามีความยุ่งยากและซับซ้อน ต้องใช้ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาในการรักษา แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะรักษาได้ โดยในกรณีที่มะเร็งของผู้ป่วยแพร่กระจายไปที่ตับหรืออวัยวะอื่นเพียงไม่กี่แห่งยังสามารถรักษาได้โดยจะต้องตัดมะเร็งที่แพร่ไปยังอวัยวะต่าง ๆ ออกให้หมด ซึ่งการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ที่แพร่กระจายไปเฉพาะที่ตับสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการผ่าตัดมะเร็งทั้งที่ตับ และผ่าตัดมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ตรง
การรักษาที่ผ่าตัดได้ทั้งสองอวัยวะในสมัยก่อนนั้นเป็นการรักษาโดยผ่าตัดแยกกัน ทั้งผ่าตัดที่ตับและผ่าตัดที่ลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงแยกส่วนกัน โดยอาจจะผ่าตัดพร้อมกันหรือผ่าคนละครั้งก็ได้ ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ แผลผ่าตัด ถ้าเป็นที่ลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงจะมีแผลในช่องท้องด้านล่าง แต่ถ้าเป็นที่ตับจะมีแผลที่บริเวณช่องท้องด้านบน และขนาดของแผลจะมีขนาดใหญ่มาก ทั้งด้านบนและด้านล่าง ต่อมาได้มีการพัฒนาการผ่าตัด เรียกว่า การผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็ก หรือการผ่าตัดแบบเจาะรูผ่านกล้อง ซึ่งสามารถผ่าตัดได้ทั้งโรคทั่วไปและโรคมะเร็ง รวมทั้งอวัยวะต่าง ๆ ในช่องท้องทั้งลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และลำไส้ตรง รวมถึงสามารถผ่าตัดตับได้อีกด้วย แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการประสานทีมการผ่าตัดแบบแผลเล็กหรือการผ่าตัดแบบเจาะรูผ่านกล้อง ทั้งลำไส้ใหญ่และตับพร้อมกัน กระทั่งทีมศัลยแพทย์มีความชำนาญมากขึ้น และเครื่องมือมีการพัฒนาหลากหลายมากขึ้น จึงทำให้สามารถผ่าตัดอวัยวะทั้งสองได้พร้อมกัน และยังทำให้แผลของผู้ป่วยมีขนาดเล็กลง ทั้งยังใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาลน้อยลง ลดจำนวนครั้งในการผ่าตัดจากหลายครั้งเหลือครั้งเดียว ซึ่งผลการฟื้นตัวดีมากกว่า
ข้อดีของ การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ และลำไส้ตรง ด้วยการผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็ก
เนื่องจากแผลมีขนาดเล็กทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดน้อยกว่าและฟื้นตัวได้เร็วกว่า ที่สำคัญการผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็กยังช่วยลดระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล เมื่อผู้ป่วยมีอาการฟื้นตัวเร็ว ผู้ป่วยก็…
- สามารถลุกขึ้นจากเตียงได้เร็วขึ้น
- ภาวะแทรกซ้อนจากการนอนบนเตียงนาน ๆ ก็จะเกิดขึ้นน้อยกว่า เช่น การมีหลอดเลือดอุดตันที่ขา การติดเชื้อในทางเดินหายใจ จากการนอนนาน
- แผลผ่าตัดที่ขนาดเล็กทำให้โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากแผลผ่าตัดได้น้อยลง เช่น แผลอักเสบติดเชื้อ แผลแยกทำให้เกิดไส้เลื่อนจากแผลผ่าตัด รอยแผลเป็นนูนขนาดใหญ่
- การกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น แผลขนาดเล็กกว่า ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันต่าง ๆง่ายขึ้น เช่น การออกกำลังกาย การยืดขยับตัว ตึงเจ็บแนวแผลผ่าตัดน้อยกว่า
ข้อจำกัดของการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ด้วยการผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็ก
เนื่องจากเครื่องมือ และอุปกรณ์ในการผ่าตัดแต่ละชนิดค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อน จึงต้องอาศัยความชำนาญของทีมศัลยแพทย์ ทีมพยาบาล ทีมผู้ช่วยผ่าตัด อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากเครื่องมือแต่ละชิ้นในประเทศไทยผลิตได้เองน้อยมาก จำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกล้องที่ใช้ ไม่ว่าจะเป็นกล้องสามมิติ เทคโนโลยีหรือการถ่ายทอดสัญญาณ ที่ประเทศไทยไม่สามารถผลิตได้เอง
การผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ และลำไส้ตรงในปัจจุบัน
ในปัจจุบันนี้เริ่มมีการเรียนการสอนเกี่ยวกับการผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็กมากขึ้น ทำให้ศัลยแพทย์รุ่นหลัง ๆ ได้รับการฝึกฝนในด้านแนวคิดและประสบการณ์ในการส่องกล้องมากขึ้น อนาคตโรงพยาบาลจะสามารถทำการรักษาด้วยวิธีนี้ได้ทั่วประเทศ และเมื่อสามารถทำได้มากขึ้น เครื่องมือที่สั่งเข้ามาก็จะมากขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายอาจถูกลงด้วย และถ้าหากเข้าสู่ Thailand 4.0 ที่ประเทศไทยสามารถผลิตเครื่องมือและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดเองได้ ก็จะทำให้ค่ารักษายิ่งถูกลงตามลำดับ
สำหรับการผ่าตัดแผลเล็กนั้นทำเพื่อให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคและมีการฟื้นฟูหลังผ่าตัดที่เร็วขึ้น แต่สุดท้ายแล้วก่อนที่ตัวมะเร็งจะลุกลามไปที่อื่น การป้องกันคือสิ่งที่ดีที่สุด ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ เพราะมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงมักพบในผู้สูงอายุ นำไปสู่การป้องกันการลุกลามที่อาจควบคุมได้โดยไม่ต้องผ่าตัด
สามารถอ่านบทความเกี่ยวกับ กลุ่มเสี่ยง สัญญาณเตือน การป้องกัน มะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้ที่นี่
ข้อมูลจาก
รศ. นพ.ไชยรัตน์ ทรัพย์สมุทรชัย
สาขาวิชาศัลยศาสตร์ทางเดินอาหารและศัลยศาสตร์ทั่วไป ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
คลิกชมคลิปรายการ “การผ่าตัดแผลเล็กเพื่อรักษามะเร็งลำไส้ : พบหมอรามา ช่วง Meet the expert” ได้ที่นี่
ติดตาม Rama Channel เพื่อรับข้อมูลด้านสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่
Website Ramathibodi: https://www.rama.mahidol.ac.th/
Youtube: RAMA Channel
Facebook: รามาแชนแนล Rama Channel
LINE: Ramathibodi
Tiktok: ramachanneltv รามาแชนแนล ช่องของคนรักสุขภาพ