การดูแลผู้ป่วยมะเร็ง
หน้าแรก
การดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่เข้ารับการเคมีบำบัดแบบใดที่ถูกต้อง
การดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่เข้ารับการเคมีบำบัดแบบใดที่ถูกต้อง

ผู้ป่วยมะเร็งที่เข้ารับการเคมีบำบัด จะต้องได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น หรือลดผลข้างเคียงให้เหลือน้อยที่สุด และเป็นผลดีต่อการรักษา

เคมีบำบัดเป็นวิธีหนึ่งในการรักษาโรคมะเร็ง

โดยใช้ยาต้านมะเร็งเพื่อทำลายหรือควบคุมเซลล์มะเร็งให้มีขนาดเล็กลง พร้อมทั้งควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งไม่ให้โตขึ้นและยับยั้งการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ จุดประสงค์ของการทำเคมีบำบัดขึ้นอยู่กับระยะของโรค สามารถหวังผลให้หายขาดได้ในมะเร็งบางชนิดที่อยู่ในระยะเริ่มต้น เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และมะเร็งลำไส้ เป็นต้น

วิธีการดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่เข้ารับการเคมีบำบัด

ก่อนอื่นทั้งตัวผู้ป่วยเองและผู้ดูแลจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นหลังการทำเคมีบำบัด เพื่อทำการเฝ้าระวังและจัดการให้ถูกต้องเหมาะสม เช่น อาการคลื่นไส้อาเจียน ที่ผู้ป่วยจะต้องเข้าใจก่อนว่าสามารถเกิดขึ้นได้และเกิดเพียงชั่วคราวเท่านั้น หลังการรักษาหรือเลิกรับประทานยาที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว ผลข้างเคียงเหล่านั้นก็จะหายไปเอง หากเป็นมากสามารถไปรับยาแก้อาการคลื่นไส้จากแพทย์ได้อีกด้วย

วิธีการดูแลผู้ป่วยมะเร็งที่เข้ารับการเคมีบำบัด

  • ทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
  • ผู้ป่วยควรเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น และมีกำลังใจเสมอ
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  • รับประทานอาหารสุกสะอาดเสมอ
  • เมื่อมีไข้ต้องรีบพบแพทย์ ไม่ควรรับประทานยาลดไข้เอง

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลข้างเคียงของการทำเคมีบำบัด

ผลข้างเคียงที่เกิดจากเคมีบำบัดนั้นเกิดจากการที่ตัวยาไปทำลายเซลล์มะเร็ง ทำให้มีผลกับเซลล์ปกติด้วย โดยเซลล์ปกติมีด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดแบ่งตัวเร็ว และชนิดที่ไม่ได้แบ่งตัวเร็ว โดยเซลล์ที่ได้รับผลกระทบจะเป็นเซลล์ชนิดแบ่งตัวเร็ว เช่น เซลล์รากผม เซลล์เม็ดเลือด เซลล์เยื่อบุในช่องทางเดินอาหารตั้งแต่ปากถึงทวารหนัก

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจะเกิดเพียงชั่วคราวและฟื้นตัวได้เร็ว เมื่อหยุดการรักษาร่างกายก็จะกลับมาเป็นปกติ เช่น ผมที่เคยร่วงก็จะกลับมาขึ้นเป็นปกตินั่นเอง โดยผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นนั้นยังขึ้นอยู่กับชนิดของยา พบว่ายาบางตัวในการทำเคมีบำบัดก็ไม่ได้ทำให้ผมร่วง โดยส่วนมากยาที่ทำให้ผมร่วง คือ ยารักษามะเร็งเต้านม

ผลข้างเคียงจากการทำเคมีบำบัดที่พบบ่อย

  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • ผมร่วง
  • อาการเจ็บปากหรือเจ็บคอ
  • ท้องผูก ท้องเสีย ท้องอืด
  • ไม่อยากอาหาร
  • น้ำหนักลด

ในช่วงที่มีการทำเคมีบำบัด ตัวยาจะกดการสร้างเม็ดเลือด ทำให้เม็ดเลือดลดน้อยลง ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำลง และติดเชื้อได้ง่ายขึ้น โดยภาวะติดเชื้อของผู้ป่วยเมื่อได้รับยาเคมีบำบัดจะเกิดช่วง 1-2 สัปดาห์หลังเข้ารับการรักษา ผู้ดูแลและตัวผู้ป่วยเองต้องระมัดระวังในเรื่องของอาหารการกินเป็นพิเศษ ต้องรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และอาหารต้องสุกสะอาด หากมีไข้ต้องรีบพบแพทย์ ไม่ควรรับประทานยาลดไข้เอง ทั้งนี้อาการดังกล่าวจะมีผลต่อเซลล์เยื่อบุทางเดินอาหารทั้งหมด ทำให้มีอาการเจ็บปาก ร้อนใน ท้องเสีย จำนวนเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดต่ำ อาจทำให้เกิดภาวะซีดในคนไข้บางราย

อาการที่ควรระวังหลังการให้เคมีบำบัด

  • บริเวณแขนข้างที่ได้รับยาเคมีบำบัด มีอาการบวม แดง แสบ หรือดำคล้ำ
  • มีแผลหรือมีเชื้อราในช่องปากและลำคอ
  • มีอาการคลื่นไส้อาเจียนรุนแรง ร่วมกับมีอาการท้องเสีย
  • ปัสสาวะมีเลือดปน เจ็บเวลาปัสสาวะ
  • มีอาการหน้ามืด ใจสั่น แน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ ปวดศีรษะอย่างรุนแรงและสูญเสียการทรงตัว
  • ซึมลง ชัก หรือมีอาการเกร็งผิดปกติ
  • มีไข้สูงมากกว่าหรือเท่ากับ 38 องศาเซลเซียส
  • มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ท้องผูกหรือท้องเดินอย่างรุนแรง
  • น้ำหนักลดหรือเพิ่มอย่างรวดเร็ว
  • เลือดออกง่ายหรือไหลไม่หยุด อาจมีจุดเลือดบริเวณผิวหนังหรือมีผื่นขึ้นตามตัว

 

ข้อมูลจาก
คุณสุวรรณี สิริเลิศตระกูล
พยาบาลชำนาญการพิเศษและผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง (APN)
สังกัดฝ่ายการพยาบาล
โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล


คลิกชมคลิปรายการ “การดูแลผู้ป่วยที่ให้ยาเคมีบำบัด : RAMA Square ช่วง Daily expert” ได้ที่นี่

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทความเรื่อง โรคคางทูม เกิดจาก การใช้ หลอดดูดน้ำ เดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อได้
โรคคางทูม เกิดจากการใช้หลอดดูดน้ำเดียวกัน จริงหรือ ? มีโอกาสติดโรคได้เนื่องจากสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อบนหลอดสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้
บทความสุขภาพ
17-04-2024

1

บทความเรื่อง ยาระบาย แก้ท้องผูก ได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้นยาระบายช่วยให้อาการ ท้องผูก หายได้เบื้องต้น
ยาระบาย แก้ท้องผูกได้จริงหรือไม่ ? ยาระบายจะเข้าไปช่วยให้การขับถ่ายให้กลับมาเป็นปกติ ดังนั้น ยาระบายช่วยให้อาการท้องผูกหายได้เบื้องต้นเท่านั้น
บทความสุขภาพ
11-04-2024

1

บทความเรื่อง โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรค ผิวหนังอักเสบ เรื้อรังชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคัน ผิวหนังแดง มีขุยหนา แล้วโรค สะเก็ดเงิน รักษา อย่างไรได้บ้าง ?
โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ส่วนใหญ่มักจะมีอาการคัน ผิวหนังแดง มีขุยหนา แล้วโรคสะเก็ดเงินรักษาอย่างไรได้บ้าง ?
บทความสุขภาพ
10-04-2024

8

บทความเรื่อง ปวดขมับ หรือท้ายทอย คือสัญญาณเตือน โรคไต ! จริงหรือไม่ ? ปวดศีรษะ บริเวณขมับหรือท้ายทอยอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไตได้มาสังเกตอาการกันว่าแบบนี้จะเข้าข่ายหรือไม่แล้วเมื่อเป็น โรคไต อาการ จะเป็นอย่างไร ?
อาการปวดศีรษะที่ต้องเฝ้าระวัง หากมีอาการปวดบริเวณขมับหรือท้ายทอยอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคไตได้ มาสังเกตอาการกันว่าเมื่อปวดขมับหรือท้ายทอยแบบนี้จะเข้าข่ายเป็นโรคไตหรือไม่ !
บทความสุขภาพ
05-04-2024

5