กระดูกเป็นส่วนที่สำคัญของระบบโครงสร้างร่างกาย ทำหน้าที่เป็นโครงแกนหลักให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น มายึดเกาะ ทำให้ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวได้ นอกจากนี้ ยังเป็นส่วนที่เก็บแร่ธาตุที่รู้จักกันดี คือ แคลเซียม ด้วยความสำคัญเช่นนี้แล้ว หากไม่บำรุงหรือดูแลรักษามวลกระดูกให้ดี จนทำให้เกิดโรค กระดูกพรุน อาจส่งผลเสียต่อร่างกายตามมา เช่น ภาวะกระดูกที่แตกหรือหักง่าย
โรคกระดูกพรุน คืออะไร ?
โรคที่กระดูกมีมวลกระดูกลดน้อยลง เนื่องจากเกิดการสลายตัวของกระดูกเร็วกว่าการสร้างกระดูก จนทำให้ความแข็งแรงของกระดูกมีค่าลดลง ส่งผลทำให้กระดูกมีความเสี่ยงที่จะแตกและหักง่าย หากมีการหกล้มหรือการกระแทกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ปัจจัยเสี่ยงโรค กระดูกพรุน
- ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
- น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
- ผู้หญิงวัยหลังหมดประจําเดือน
- สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- พันธุกรรม
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม
- รับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง
- รับประทานอาหารที่มีโปรตีนหรือไฟเบอร์มากเกินไป
- รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมไม่เพียงพอ
- ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ติดต่อกันเป็นเวลานาน
- มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคข้อ โรครูมาตอยด์
โรคกระดูกพรุนภัยเงียบใกล้ตัวของคนวัยทอง
โรคกระดูกพรุนเรื่องน่ากลัวสำหรับรุ่นใหญ่ ชะลอได้ ถ้ารู้ทัน
โรคกระดูกพรุนภัยเงียบของผู้สูงอายุ
กระดูกส่วนไหนที่พบโรคกระดูกพรุนได้มากที่สุด
- กระดูกข้อสะโพก
- กระดูกสันหลัง
- กระดูกปลายแขน
อันตรายของโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุนจะทำให้มวลกระดูกและความแข็งแรงของกระดูกลดลง โดยปกติจะไม่ได้แสดงอาการ แต่เนื่องจากมวลกระดูกที่ลดลง จึงส่งผลให้กระดูกแตกหักง่ายมากกว่าปกติ และทำให้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายตามมาหลังจากภาวะกระดูกหัก
โรคกระดูกพรุนทำกระดูกหักได้โดยไม่รู้ตัว
อาการแทรกซ้อนของภาวะกระดูกหักจากสาเหตุภาวะโรค กระดูกพรุน
- โรคอัมพฤกษ์-อัมพาต
- หลังโก่ง หลังค่อม
- ติดเชื้อในกระแสเลือด
- ช่วยเหลือตัวเองลำบาก
- เคลื่อนไหวช้าลง
- แผลกดทับ (กรณีผู้ป่วยติดเตียง)
ประเภทของโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุนแบบปฐมภูมิ
- เกิดกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ทำหน้าที่ควบคุมระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงในร่างกายลดลง พบได้หลังหมดประจำเดือนไปแล้วประมาณ 15-20 ปี
- เกิดในผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไป เมื่อร่างกายเสื่อมสภาพลง การทำงานของฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายก็จะมีประสิทธิภาพลดลง
โรคกระดูกพรุนแบบทุติยภูมิ
เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ พบได้ในทุกเพศทุกวัย เช่น
- โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรครูมาตอยด์ โรคไตวายเรื้อรัง
- รับประทานยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
- เกิดอุบัติเหตุ
การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน
แบ่งกระดูกออกเป็น 3 ชนิด
- กระดูกปกติ คือ มีค่ามวลกระดูกอยู่ในช่วง 1 ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (ค่ามวลกระดูก มากกว่า -1)
- กระดูกโปร่งบาง คือ มีค่ามวลกระดูกอยู่ระหว่างช่วง 1-2.5 (ค่ามวลกระดูก มีค่าระหว่าง -1 ถึง -2.5)
- กระดูกพรุน คือ มีค่ามวลกระดูก 2.5 หรือต่ำกว่าของค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (ค่ามวลกระดูก น้อยกว่า -2.5)
วิธีป้องกันโรค กระดูกพรุน
- งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- รับประทานข้าวกล้องแทนข้าวขาว
- รับประทานผักและผลไม้
- รับประทานเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ และถั่ว
- งดรับประทานอาหารรสเค็มและหวานจัด
- รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม
วิธีการรักษาโรคกระดูกพรุน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานยาต้านการสลายของกระดูก เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนแคลซิโตนินแคลเซียม
- รับประทานยากระตุ้นการสร้างกระดูก เช่น แคลเซียม วิตามินดี
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ
การดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคกระดูกพรุน
- ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัย เช่น เต้นแอโรบิก เดินเร็ว หรือวิ่งเหยาะ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับข้อต่อ
- ระวังการหกล้ม เพราะโรคกระดูกพรุนหากเกิดอุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้กระดูกแตกและหักได้
- รับประทานอาหารที่มีแคลเชียมสูง เช่น นม เพราะแคลเชียมจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกได้
- ออกไปรับแสงแดด เพราะวิตามินดี ในแสงแดดจะช่วยให้แคลเซียมในร่างกายไหลผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้ดียิ่งขึ้น
- หากเกิดอาการผิดปกติ ควรรีบเข้าพบแพทย์
ข้อมูลจาก
ผศ. นพ.ชายนันท์ วิจิตรตระการรุ่ง
สาขาวิชาเวชศาสตร์การกีฬา
ภาควิชาออร์โธปิดิกส์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล