.......
ในความสัมพันธ์ของคู่รักนั้น ‘เซ็กซ์’ ไม่ใช่เพียงแค่กิจกรรมทางกาย แต่ยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างความใกล้ชิดระหว่างคู่รักอีกด้วย หากคู่รักมีมุมมองและความต้องการทางเพศที่ไม่ตรงกัน ก็อาจจะนำไปสู่ปัญหาต่อความสัมพันธ์ได้
ตัวอย่างเคส โดย อ.พญ.ขวัญชนก หอมแสงประดิษฐ
“หมอครับ แฟนผมมาด้วย ขอเข้าปรึกษาด้วยกันเลยได้ไหมครับ”
“ได้ค่ะ เข้ามาพร้อมกันได้เลย”
“คือผมมีปัญหาแข็งตัว และก็มีความต้องการน้อยครับ”
ในคู่ครองที่มีปัญหาเรื่องเพศมักจะมีแนวคิดหนึ่งที่พบได้บ่อย คือการคิดว่าคนใดคนหนึ่งมีปัญหา เช่น คนที่มีปัญหาการแข็งตัว คนที่มีปัญหาเจ็บในช่องคลอด เป็นต้น แต่เมื่อประเมินเพิ่มเติมจะพบว่า ปัญหาที่ซ่อนอยู่ใต้ปัญหาของอวัยวะเพศ คือปัญหาเรื่องความต้องการทางเพศไม่เท่ากัน
ตัวอย่างสัญญาณที่ช่วยให้แพทย์สงสัยเรื่องนี้ได้ เช่น ฝ่ายชายไม่ได้อยากแก้ไขปัญหาเรื่องการแข็งตัว หรือรู้สึกว่าการแข็งบ้าง ไม่แข็งบ้างเป็นเรื่องปกติที่ขึ้นกับอารมณ์ร่วมในขณะนั้น แต่ปัญหาหลัก ๆ ที่ทำให้มาพบแพทย์ คือทั้งคู่ทะเลาะกันมากขึ้นเพราะความต้องการไม่เท่ากัน
หากแพทย์ด่วนสรุปและไม่ได้ประเมินอย่างรอบด้าน จะทำให้แพทย์มุ่งเน้นการดูแลเพื่อรักษาให้อวัยวะเพศชายให้แข็งตัว แต่ทำให้พลาดประเด็นสำคัญระหว่างคู่ที่ซ่อนอยู่
“เท่าที่หมอฟังดู ปัญหาหลัก ๆ ของทั้งสองคน ดูจะเป็นเรื่องความต้องการทางเพศไม่เท่ากันที่เป็นปัญหาหลักมากกว่า เห็นด้วยไหมคะ”
ทั้งคู่รีบพยักหน้าเห็นด้วย
เมื่อแพทย์มองปัญหาตรงจุดกับปัญหาที่คู่ครองเผชิญอยู่ จะช่วยให้การดูแลมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นการประเมินและดูแลแบบเป็นคู่จึงสำคัญ บทความนี้จะช่วยให้แพทย์ได้มีหลักการในการประเมินและการดูแลเบื้องต้นเมื่อพบคู่ที่มีปัญหาความต้องการทางเพศไม่เท่ากัน
ความต้องการทางเพศ (Sexual Desire) คืออะไร
ความต้องการทางเพศไม่ได้มีความหมายที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว แต่การให้ความหมายนั้นขึ้นอยู่กับมุมมอง รวมถึงประสบการณ์ของแต่ละบุคคล เช่น ความต้องการภายในที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ (spontaneous inner drive) หรืออาจจะมองความต้องการทางเพศในลักษณะของ “กระบวนการ” (process) ที่มีปัจจัยต่าง ๆ ที่สามารถกระตุ้นหรือยับยั้งการเกิดความต้องการทางเพศ
ปัจจัยที่ส่งผลต่อความต้องการทางเพศ
นอกจากการให้ความหมายต่อความต้องการทางเพศที่แตกต่างกัน ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลให้เกิดความแตกต่างของความต้องการทางเพศในแต่บุคคล เช่น ลักษณะนิสัย ลักษณะความชอบต่อกิจกรรมทางเพศ (sexual preference) ความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก วัฒนธรรมและบรรทัดฐานทางสังคม อีกทั้งในแต่ละคนยังให้ความสำคัญต่อกิจกรรมทางเพศแตกต่างกัน
ซึ่งถ้าหากว่าคู่รักมีความเข้าใจต่อความหมายและความสำคัญของกิจกรรมทางเพศที่ไม่เหมือนกัน ก็อาจจะทำให้เกิดภาวะความต้องการทางเพศที่ไม่ตรงกัน (sexual desire discrepancy)
ความต้องการทางเพศไม่ตรงกัน (Sexual Desire Discrepancy)
หมายถึง ภาวะที่คู่รักมีระดับความต้องการทางเพศหรือความถี่ต่อการมีกิจกรรมทางเพศ (sexual activity) ที่ไม่เท่ากัน แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดความต้องการทางเพศไม่เท่ากัน ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดปัญหาในคู่รักเสมอไป เนื่องจากความต้องการทางเพศนั้นสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามช่วงเวลาของชีวิต ซึ่งในคู่รักที่เกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์อาจจะเกิดจากการที่มีปัจจัยกระตุ้นทำให้เกิดปัญหา เช่น
- ความหมายของกิจกรรมทางเพศที่แตกต่างกัน
- มุมมองด้านความสำคัญของกิจกรรมทางเพศต่อความสัมพันธ์ของคู่รัก ซึ่งอาจจะมีมุมมองที่แตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
- ประสบการณ์ทางเพศและความสัมพันธ์
- บรรทัดฐานทางสังคม
เมื่อมีความต้องการทางเพศไม่ตรงกัน คู่รักจะมีการปรับตัวเข้าหากันซึ่งเกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะ
1. การปรับตัวด้านกิจกรรมทางเพศ (sexual activity)
- Sexual restraint หมายถึง ผู้ที่มีความต้องการทางเพศน้อยกว่ายอมที่จะมีกิจกรรมทางเพศ
- Sexual compliance หมายถึง ผู้ที่มีความต้องการทางเพศสูงกว่า แต่ปรับตัวโดยมีกิจกรรมทางเพศลดลง
2. การปรับตัวที่ไม่ใช่กิจกรรมทางเพศ (non-sexual activity) คือการที่คู่รักทำกิจกรรมอื่นร่วมกันที่ไม่ใช่การมีเพศสัมพันธ์ เพื่อสร้างความใกล้ชิดต่อกัน
การประเมินภาวะ Sexual Desire Discrepancy
1. เน้นการดูแลเป็นคู่และความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักมากกว่าการระบุว่าคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ที่มีปัญหา
2. ในแต่ละฝั่งของคู่รักคิดว่าความต้องการที่ไม่ตรงกันเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด
3. ความต้องการทางเพศและความสัมพันธ์
- ความต้องการทางเพศไม่ตรงกันส่งผลอย่างไรต่อความสัมพันธ์
- มีปัญหาความสัมพันธ์ก่อนหน้านั้นที่ส่งผลให้ความต้องการทางเพศเปลี่ยนแปลงหรือไม่
4. การปรับตัวของคู่รักและผลที่เกิดจากการปรับตัว
5. เหตุการณ์ที่อาจจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของความต้องการทางเพศ
6. มุมมองด้านกิจกรรมทางเพศของแต่ละบุคคล
- ความเข้าใจต่อความต้องการทางเพศ
- มุมมองด้านความสำคัญของกิจกรรมทางเพศในแต่ละคน
- ความชอบที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศ (sexual preference)
- การเกิดแรงกระตุ้น (sexual motivation)
การดูแลรักษาภาวะ Sexual Desire Discrepancy
เป้าหมายในการดูแลคือลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้น รวมถึงช่วยให้คู่รักปรับตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ โดยกลยุทธ์ในการดูแลรักษาอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละคู่ อาจจะต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม
1. ให้ความรู้ในเรื่องของความต้องการทางเพศว่ามีลักษณะเป็นกระบวนการที่สามารถทำให้เกิดได้ ถ้ามีปัจจัยกระตุ้นที่เหมาะสม
2. ให้ความรู้เรื่องของภาวะความต้องการทางเพศไม่ตรงกัน ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในบางช่วงเวลาของความสัมพันธ์
3. ช่วยให้มีการสื่อสารกันมากขึ้นระหว่างคู่รัก (couple communication)
- ความเข้าใจและความสำคัญของกิจกรรมทางเพศ
- ความชอบที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางเพศ (sexual preference)
- จุดกระตุ้นของร่างกายที่ทำให้เกิดความต้องการทางเพศ
4. แนะนำให้มีการปรับตัวที่ไม่ใช่กิจกรรมทางเพศ
อ้างอิง
Marieke D, Joana C, Giovanni C, et al. Sexual Desire Discrepancy: A Position Statement of the European Society for Sexual Medicine. Sex Med. 2020;8(2):121-131. https://doi.org/10.1016/j.esxm.2020.02.008