0
604
0
0
0
sexual health and counselling
19-09-2024
19-09-2024
- ชนากานต์ เจริญพันธ์
มณีนุช มานชู

วารสาร Retreat ฉบับที่ 1 เดือนกรกฎาคม 2566

 

นักสุขศึกษาและบทบาทการทำงานในคลินิกสุขภาพเพศกับความท้าทายในสังคมไทยที่ยังมีอคติเรื่องเพศ

 
นักสุขศึกษา ตำแหน่งงานที่คนส่วนใหญ่มักไม่คุ้นชินกันเท่าไหร่ หลายคนคงจะเคยได้ยินหรือคุ้นหูมาบ้าง ส่วนอีกหลายคนก็คงจะไม่คุ้นเคย หรือแม้แต่คนที่เคยได้ยินมาก็ยังไม่แน่ใจเลยว่างานมันจะเกี่ยวกับอะไร ซึ่งก็ต้องบอกว่าไม่แปลกหรอก เพราะขนาดผู้เขียนเองที่กำลังเขียนบอกเล่าเรื่องราวของการเป็นนักสุขศึกษาอยู่ตอนนี้ ในตอนนั้นก็ไม่เข้าใจมันสักเท่าไหร่
 
โดยก่อนที่จะมาเป็นนักสุขศึกษา หลังจากเรียนจบจากรั้วมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สาขาการส่งเสริมสุขภาพ (วท.บ.) ผู้เขียนได้เริ่มทำงานในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข สังกัดกรมควบคุมโรค แต่จากการทำงานได้ประมาณ 1 ปี เริ่มรู้สึกว่างานในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข ไม่ค่อยตอบโจทย์การทำงานของตัวเองเท่าที่ควร จึงได้มีการยื่น Profile ด้วยวุฒิการศึกษาในขณะนั้น และคะแนนการสอบ TOEIC ของตัวเองเข้าไปเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นมหาวิทยาลัยเป็นคนจัดสรรเรียกมาสัมภาษณ์ประวัติที่ยื่นเข้ามา ในวันที่ถูกเรียกสัมภาษณ์ เป็นประสบการณ์ครั้งแรกในการเจอคนมาสัมภาษณ์ในตำแหน่งเดียวกัน เกือบ 10 คน ถึงอย่างนั้นผู้เขียนก็ได้รับการติดต่อจากทางคณะ ว่าผ่านการสัมภาษณ์โดยให้มีการมาทดลองงานเป็นเวลา 1 วัน
 
ในวันที่ได้มาทดลองงาน ก็รับรู้ชัดเจนถึงความแตกต่างของรูปแบบการทำงานที่แตกต่างไปจากงานในตำแหน่งเดิมอย่างสิ้นเชิงคือ จากนักวิชาการสาธารณสุขที่ทำแผน ทำโครงการสุขภาพที่ไม่ค่อยได้เจอกันผู้คนเท่าไหร่ กลายมาเป็นการให้คำแนะนำ การให้ข้อมูลทางด้านสุขภาพกับผู้ป่วย พูดคุยสื่อสารกับคนเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ถือเป็นข้อได้เปรียบเนื่องจากการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยในสาขาการส่งเสริมสุขภาพที่ผ่านมานั้น ได้มุ่งเน้นในการสื่อสารเกี่ยวกับประเด็นความรู้ทางสุขภาพ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกับคนในกลุ่มต่างๆ  ทั้งคนที่ป่วยและคนที่ยังไม่ป่วย รวมถึงการให้ Intervention ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ รวมถึงทักษะในการสื่อสาร ซึ่งเป็นทักษะที่ตนเองค่อนข้างมั่นใจว่าสามารถทำได้ดี และเมื่อได้รับการติดต่อมาว่าเป็นผู้ผ่านการคัดเลือกให้รับตำแหน่ง ก็เป็นจุดเปลี่ยนในการทำงานครั้งใหม่ และถือเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานตำแหน่งนักสุขศึกษา ณ ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว 
 
นักสุขศึกษา ส่วนหนึ่งของทีมสหวิชาชีพในการให้บริการกับผู้ป่วยร่วมกับทีมแพทย์
 
โดยภาระหน้าที่ของผู้เขียนในขณะนั้นรับผิดชอบในส่วนของการให้คำแนะนำเกี่ยวกับในเรื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการดูแลและควบคุมเบาหวาน ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมอาหาร ปรับพฤติกรรมการบริโภค การกินยา  การออกกำลังกาย การสร้างแรงจูงใจให้ผู้ป่วยได้เข้าใจโรค และเข้าใจตนเองเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมภายใต้คลินิกเบาหวานครบวงจร อีกส่วนคือการพูดคุยประเมินประเด็นปัญหาซับซ้อนของผู้ป่วย และจำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลที่มากกว่าแค่ในหน่วยตรวจผู้ป่วยนอก จำเป็นที่จะต้องไปดูองค์ประกอบอื่นที่นอกเหนือจากผู้ป่วยที่บ้าน เช่น สิ่งแวดล้อม การดูแลที่บ้าน ความเป็นอยู่ในภาพรวม ทำความรู้จักคนดูแล และคนในครอบครัวที่ไม่สามารถประเมินได้ในหน่วยตรวจผู้ป่วยนอกภายในโรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรอบด้าน และครอบคลุม โดยอยู่ภายใต้การดำเนินงานของคลินิกส่งเสริมสุขภาพและงานเยี่ยมบ้าน 
 
หลังจากที่ได้ทำงานเป็นนักสุขศึกษามาได้ประมาณ 3 ปี สามารถปรับตัวกับสถานที่ทำงานใหม่ ตำแหน่งงานภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายที่มีอยู่เริ่มเข้าที่เข้าทาง จึงได้รับโอกาสที่ท้าทาย คือ คำชักชวนเกี่ยวกับการร่วมทำงานในคลินิกสุขภาพเพศจากการชักชวนของอาจารย์น้ำอ้อย แพทย์หญิงขวัญชนก หอมแสงประดิษฐ Admin Page น้องสาว ซึ่งในตอนนั้นก็ยังไม่มีชื่อประจำคลินิกด้วยซ้ำ เนื่องจากยังไม่มีทีมงานคนอื่น ๆ แต่อาจารย์น้ำอ้อยมีความมุ่งมั่นตั้งใจและมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการที่เราไม่มีคนที่ดูแลปัญหาเรื่องเพศ ทำให้ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแล ไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมและไม่รู้ว่าจะต้องไปหาหมอที่ไหน หรือต้องไปปรึกษากับใครที่จะดูแลเค้าได้
 
ซึ่งครั้งแรกที่ได้ฟังคำชักชวนนั้น ผู้เขียนรู้สึกตื่นเต้น และรู้สึกว่าเป็นข้อเสนอน่าสนใจมาก เพราะเป็นคลินิกใหม่ที่ไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนเลย (ในตอนนั้น) รวมถึงในประเทศไทยแทบจะยังไม่มีคนทำด้วยซ้ำ ซึ่งความรู้สึกตื่นเต้นนั้นก็มาพร้อมกับความกังวลว่าจะสามารถทำมันได้หรือไม่จากตำแหน่งความรับผิดชอบที่ทำอยู่ แต่จากประสบการณ์ในชีวิต รวมถึงความสนใจส่วนตัวของตัวเองที่อยากให้ทุกคนสามารถพูดคุยกันเรื่องเพศได้อย่างเปิดเผย และตัวผู้เขียนเองให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ ทั้งปัญหาที่เกี่ยวกับสุขภาพเพศ หรือประเด็นเกี่ยวกับเพศในเรื่องอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นในเรื่องของความหลากหลาย ความเท่าเทียม รวมถึงกรอบสังคมที่มีผลต่อประเด็นปัญหาเรื่องเพศ จึงเกิดเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ผู้เขียนตัดสินใจเข้าร่วมกับอาจารย์น้ำอ้อย และคลินิกสุขภาพเพศ 
 
ผู้เขียนศึกษาอบรมเพิ่มเติมด้าน Clinical Sexology หรือเพศวิทยาคลินิก เพื่อติดเครื่องมือความรู้เฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางด้านสุขภาพเพศนำความรู้มาให้คำแนะนำและดูแลผู้ป่วย การดำเนินงานในคลินิกสุขภาพเพศ ผู้ที่มารับบริการทุกคนจะได้เจอกับนักสุขศึกษาหรือในคลินิกจะใช้คำว่านักเพศวิทยาใน visit แรก ในครั้งแรกจะทำการประเมินอย่างเป็นองค์รวม และให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับความรู้เรื่องเพศที่ถูกต้องเหมาะสม ปัญหาด้านสุขภาพเพศมีความหลากหลายและประเด็นปัญหาหนักเบาแตกต่างกัน ในหลายครั้งผู้ป่วยที่มารับบริการเพียงได้รับข้อมูลความรู้เรื่องเพศที่เหมาะสมกับตนเองก็สามารถจัดการกับประเด็นปัญหาของตนเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจหรือประเมินซ้ำจากแพทย์
 
ปัญหาเรื่องเพศ ยังถูกปิดกั้น และยังไม่ถูกให้ความสำคัญ
 
แต่เนื่องด้วยประเด็นในปัญหาเรื่องเพศ ยังถูกปิดกั้น และยังไม่ถูกให้ความสำคัญ ไม่ถูกพูดถึงอยากแพร่หลายในพื้นที่สาธารณะ ดังนั้นสิ่งที่อาจจะต้องมีเพิ่มเติมจากการเป็นนักสุขศึกษาในการทำงานคลินิกสุขภาพเพศที่นอกเหนือจากข้อมูลความรู้ คือ มุมมองเปิดกว้าง และทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับเรื่องเพศ ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ค้นหา หรือสร้างได้ยากกว่าข้อมูลความรู้ เพราะเป็นเรื่องของความคิดความเชื่อ ทัศนคติ การเรียนรู้ และประสบการณ์ของบุคคลนั้น ๆ ซึ่งสังคมไทยยังมีอคติ หรือ มายาคติที่ผิดเกี่ยวกับเรื่องเพศอยู่มาก อาจเพราะประเด็นเรื่องเพศยังไม่ถูกพูดถึงอย่างเปิดกว้าง เรายังต้องแอบเถียงกันในมุมมืด ๆ เล็ก ๆ ว่าความรู้ความเข้าใจ หรือ มายาคติเรื่องเพศที่เคยได้ยินมา เรื่องไหนถูกผิด โดยมองว่าเรื่องเพศไม่ควรนำมาพูดคุยกันเพราะเป็นเรื่องไม่ดี ผิดศีลธรรม ไปถึง ลามกจกเปรต ซึ่งความจริงแล้วไม่เป็นแบบนั้น แท้จริงแล้วปัญหาทางด้านสุขภาพเพศก็นับเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาพเช่นกัน
 
หากเราเห็นถึงความสำคัญของการให้ข้อมูลที่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีรับการดูแล ด้วยความหวังให้ผู้ป่วยเหล่านั้น พร้อมที่จะดูแลตนเองได้ด้วยตัวเองแล้ว ผู้เขียนก็ได้มองเห็นตนเองในเส้นทางของนักสุขศึกษาในแต่ละส่วนงานว่าแกนหลักล้วนไม่แตกต่างกัน แม้รายละเอียดของแต่ละส่วนจะแตกต่างกันก็ตาม
 
หากได้อ่านมาถึงตรงนี้ท่านก็คงได้จะเห็นถึงเส้นทางของการมาเป็นนักสุขศึกษาของผู้เขียนอยู่บ้าง และแน่นอนว่าการเดินทางนี้ก็คงยังดำเนินต่อไป จากวันเริ่มต้นจนมาถึงการทำงานในตำแหน่งนักสุขศึกษาในปัจจุบัน จากคนที่ไม่เข้าใจว่านักสุขศึกษาต้องทำอะไร จนถึงวันนี้ที่เราได้มองเห็นตัวเอง และได้เข้าใจถึงความสำคัญของการให้ข้อมูลความรู้ รวมถึงคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เหมาะสมกับสุขภาพของผู้ป่วย
 
ความรู้ความเข้าใจสามารถเปลี่ยนคนป่วยให้เป็นคนสุขภาพดีได้อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ในขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้ว่านอกเหนือจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับร่างกายแล้ว ก็ต้องสร้างความพร้อม และดูแลใจให้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน BioPyscho Social ทุกอย่างล้วนสัมพันธ์กันหมด อย่ามัวแต่มุ่งจะให้ความสำคัญกับการให้คำแนะนำจนลืมดูแลใจ และดูปัจจัยทางสังคมของผู้ป่วยด้วย เพราะบางครั้ง ความเจ็บป่วยทางกายก็มาจากใจที่ไม่แข็งแรงได้เช่นกัน
 
สามารถอ่านวารสารฉบับเต็มได้ที่  https://online.fliphtml5.com/pgtfo/bmyg/
 
ชื่อผู้เผยแพร่
มณีนุช มานชู
ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว - 19-09-2024
แสดงความคิดเห็น