0
216
0
0
0
Lovesick
19-09-2024
19-09-2024
- ผศ.พญ.สายพิณ หัตถีรัตน์
มณีนุช มานชู

วารสาร Retreat ฉบับที่ 1 เดือนกรกฎาคม 2566

The academic stuff

Lovesick

“เราจะไปยุ่งอะไรกับชีวิตคู่ของคนไข้ มันเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา

แพทย์พยาบาลหลายคนมักคิดเช่นนี้ต่อการซักประวัติเรื่องชีวิตคู่ของผู้ป่วย โดยคิดว่าเป็นการละลาบละล้วงพื้นที่ส่วนตัวของเขา ที่มันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องสุขภาพหรือโรคภัยไข้เจ็บในส่วนที่เป็นหน้าที่ของเรา เพราะหากเป็นเรา เราก็ไม่อยากเล่าหรือบอกใครที่ไม่สนิทกัน ในสถานการณ์กลับกัน แพทย์พยาบาลหลายคนก็เคยเจอคนไข้ขาประจำถามเราว่า ขอโทษนะคะ คุณหมอแต่งงานหรือยังคะ”

ซึ่งหลายครั้งก็ทำให้หมอหลายคนรู้สึกหงุดหงิด ลำบากใจ กระอักกระอ่วน ที่ถูกรุกล้ำเรื่องส่วนตัว แต่หากเราสังเกตทัน คนไข้รู้อยู่แล้วว่าถามเรื่องส่วนตัวของหมอ จึงขอโทษขอโพยก่อนที่จะถาม แทนที่เราจะโกรธและตอบปัด ๆ ไป เราสามารถตอบสั้น ๆ ตามจริงเหมือนคนคุยกันธรรมดา เช่น ยังค่ะ ทำไมหรือคะ” ก็จะได้ยินประโยคเต็ม ๆ ที่ซ่อนอยู่หลังคำถามนั้นว่า โหย สาธุ เป็นบุญมากเลยนะคะ ดีแล้วล่ะค่ะ อย่าแต่งเลย นี่ถ้าให้ย้อนกลับไปได้ใหม่ ฉันก็จะอยู่เป็นโสดเหมือนกัน ตั้งแต่แต่งมา ไม่มีวันไหนเลยที่มีความสุข”

ในเวชปฏิบัติ เรามักได้ยินสภาพปัญหาชีวิตคู่ของคนไข้ที่ไม่ส่งเสริมการดูแลสุขภาพ หรือแม้กระทั่งเป็นสาเหตุต้นตอของปัญหาสุขภาพ เช่นเดียวกับในชีวิตประจำวัน ชีวิตครอบครัว เพื่อนฝูงหรือคนรู้จักของเรา เราก็มักจะรับทราบเรื่องเหล่านี้อยู่เนือง ๆ ซึ่งเห็นถึงผลกระทบต่อคุณภาพการใช้ชีวิตของคนเหล่านั้น และหากเกิดกับตัวเราเอง เราจะพบผลกระทบที่รุนแรงและยาวนานจน เป๋” ไปพักใหญ่

แม้ว่าจะมีงานวิจัยบอกว่า คนที่แต่งงานหรือคนที่มีคู่มีสุขภาพดีและอายุยืนยาวกว่าคนที่ไม่แต่งงาน (1, 2) มีอัตราการเกิดโรคร้าย ๆ ต่ำกว่า(3, 4, 5) แต่ในเวชปฏิบัติจริง เราจะเห็นชีวิตคู่ที่มีปัญหามากกว่าคู่ที่มีสุข เพราะแท้ที่จริงแล้วการมีคู่ไม่ใช่เครื่องรางในการปกป้องให้มีสุขภาพดี แต่ต้องเป็นชีวิตคู่ที่ลงตัวด้วยจึงจะทำให้ชีวิตและสุขภาพดีได้ ไม่เช่นนั้นชีวิตแต่งงานหรือชีวิตคู่จะเป็นสาเหตุหลักแห่งวังวนความเครียด(6) ที่แทรกซึมอยู่ในเนื้อในหนังของคนทั้งคู่ แบบหยิกเล็บเจ็บเนื้อ หวานอมขมกลืนกันไปตลอดเส้นทางแห่งความสัมพันธ์ ทั้งยังเป็นข้อจำกัดในการออกไปป่าวร้อง ขอความช่วยเหลือจากคนอื่น(1) ดังเห็นตัวอย่างได้ชัดในคู่ที่มีความรุนแรง คนที่ถูกทำร้ายในคู่มักไม่สามารถออกจากความสัมพันธ์ที่เลวร้ายนั้นได้ มักอดทนอยู่หรือหวนกลับไปคืนดีกันตลอดจนคนภายนอกไม่เข้าใจและเอือมระอาจนถึงขั้นทอดทิ้งให้ตกอยู่ในวัฏจักรความรุนแรงนั้นต่อไป

เมื่อไม่นานมานี้ มีการวิจัยแบบ Meta-analysis(2) ที่พบว่า ความสัมพันธ์ชีวิตคู่ (Intimate partner relationship) เป็นทั้งปัจจัยกำหนดสุขภาพที่สำคัญเช่นเดียวกับอาหาร การออกกำลังกาย และในขณะเดียวกันก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ที่ยังผลให้เกิดได้ทั้งโรคเฉียบพลัน โรคเรื้อรังอย่างโรคเบาหวาน โรคอ้วน รวมไปถึงโรคร้ายอย่างโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือดได้ แม้ว่าจะมีงานวิจัยบอกว่า คนที่แต่งงานหรือคนที่มีคู่มีสุขภาพดีและอายุยืนยาวกว่าคนที่ไม่แต่งงาน มีอัตราการเกิดโรคร้าย ๆ ต่ำกว่า แต่ในเวชปฏิบัติจริง เราจะเห็นชีวิตคู่ที่มีปัญหามากกว่าคู่ที่มีสุข”

ชีวิตคู่ที่ ไม่พอดี” จะก่อให้เกิดความเครียดต่อบุคคลในคู่ ซึ่งส่งผลต่อการเสียสมดุลของระบบต่อมไร้ท่อ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบภูมิคุ้มกัน และทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรังในระดับเซลล์(1) ความเครียดจากการใช้ชีวิตประจำวันส่งผลกับสุขภาพของบุคคลอยู่แล้ว หากบุคคลนั้นมีชีวิตคู่ที่ไม่ตอบสนองกันอย่างพอดี ก็จะกลายเป็นปัจจัยหนุนเสริมให้เติมความเครียดในชีวิตเพิ่มไปได้อีก ทั้งนี้ไม่ใช่เฉพาะคู่ที่มีปัญหาต่อกันเท่านั้น แต่รวมถึงคู่ที่รักกันมาก ๆ ด้วย เพราะเมื่อฝ่ายหนึ่งป่วยก็จะนำพาให้เกิดความป่วยในอีกคนด้วย

ชีวิตคู่จึงเป็นปัจจัยกำหนดสุขภาพที่สำคัญ เป็นสิ่งที่แพทย์พยาบาลควรตระหนักถึงและประเมินอย่างใส่ใจเพราะหากบุคคลนั้นมีชีวิตคู่ ก็อาจเป็นได้ทั้งตัวสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคหรือเป็นความเสี่ยงและตัวบ่อนทำลายสุขภาพได้เช่นกัน มาเริ่มทำความคุ้นเคยกับการชวนคุยเรื่องความสัมพันธ์คู่ในเวชปฏิบัติกันดีกว่า

 

สามารถอ่านวารสารฉบับเต็มได้ที่ https://online.fliphtml5.com/pgtfo/bmyg/

Reference

1. Kiecolt-Glaser JK, Wilson SJ. Lovesick: How Couples' Relationships Influence Health. Annu Rev Clin Psychol. 2017;13:421-43.

2. Robles TF, Slatcher RB, Trombello JM, McGinn MM. Marital quality and health: A meta-analytic review. Psychological Bulletin. 2014;140(1):140-87.

3. Aizer AA, Chen MH, McCarthy EP, Mendu ML, Koo S, Wilhite TJ, et al. Marital status and survival in patients with cancer. J Clin Oncol. 2013;31(31):3869-76.

4. Neuman MD, Werner RM. Marital Status and Postoperative Functional Recovery. JAMA Surgery. 2016;151(2):194-6.

5. Engstrom G, Hedblad B, Rosvall M, Janzon L, Lindgarde F. Occupation, marital status, and low-grade inflammation: mutual confounding or independent cardiovascular risk factors? Arterioscler Thromb Vasc Biol. 2006;26(3):643-8.

6. Coyne JC, DeLongis A. Going beyond social support: the role of social relationships in adaptation. J Consult Clin Psychol. 1986;54(4):454-60.

 

ชื่อผู้เผยแพร่
มณีนุช มานชู
ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว - 19-09-2024
แสดงความคิดเห็น