Motivation Interview with 3 Communication Styles: แล้วคุณคือแพทย์สายไหน
การสร้างแรงจูงใจให้ผู้ป่วยเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การเลิกดื่มสุรา เลิกสูบบุหรี่ ลดน้ำหนัก หรือหันมาดูแลสุขภาพของตัวเองนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และแพทย์ก็มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการให้คำแนะนำหรือสร้างแรงจูงใจกับผู้ป่วย เรามาสำรวจรูปแบบการสื่อสารในการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ป่วยที่เราใช้ว่าเป็นรูปแบบใด
1. Following สายรับฟัง - การที่เรานั่งฟังอย่างตั้งใจและพยายามเข้าใจประสบการณ์หรือเรื่องราวผู้ป่วยโดยที่ไม่ถามนำ ไม่พูดแทรก ไม่สั่ง หรือแนะนำผู้ป่วยก่อน แต่ใช้วิธีการสบสายตาและนั่งฟังเรื่องราวจนจบ โดยหลังจากที่ฟังจบอาจมีการถามคำถามกระตุ้นเพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ความคิดและตัดสินใจในการเลือกวิธีการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมกับตนเอง แสดงว่าคุณเองอาจเป็นแพทย์สายรับฟัง
2. Directing สายสั่งการ – ในบางครั้งเราก็อาจใช้บทบาทของความเป็นหมอที่มีความรู้หรือความเชี่ยวชาญในเรื่องสุขภาพ ซึ่งเป็นการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพให้กับผู้ป่วย การสั่งการนั้นอาจมาในรูปแบบสั่งเพื่อการรักษาชีวิต สั่งเพื่อความปลอดภัยหรือเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นตามมาจนทำให้ผู้ป่วยมีท่าทีที่อ่อนน้อมหรือคล้อยตามและตัดสินใจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ แสดงว่าคุณเองอาจเป็นแพทย์สายสั่งการ
3. Guiding สายแนะนำ - เปรียบเสมือนบทบาทครูผู้สอนที่พยายามอธิบาย ให้ความรู้หรือแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง และบอกว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ได้สอนไปนั้นสามารถช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาทางสุขภาพของผู้ป่วยได้ในอนาคต หากผู้ป่วยปฏิบัติตาม แสดงว่าคุณเองอาจเป็นแพทย์สายแนะนำ
4. Mix and match - แพทย์โดยส่วนมากมักใช้รูปแบบการรับฟัง การสั่งการ และการแนะนำ ทั้ง 3 รูปแบบให้เหมาะสมตามสถานการณ์ ตามบทบาท ความสัมพันธ์ หรือตามปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่น การแนะนำให้ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ เราอาจรับฟังก่อนเป็นอันดับแรกให้เข้าใจความหงุดหงิดกับอาการปวดเข่าที่กำลังเกิดขึ้น แล้วตามด้วยการแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวหรือห้ามไม่ให้ทำพฤติกรรมบางอย่างที่อาจกระตุ้นให้อาการปวดกำเริบมากขึ้น
ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะช่วยทำให้เข้าใจรูปแบบของการสื่อสาร เพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางสุขภาพของผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น
![]() |
ผู้เขียน นพ.วรภัทร์ ตั้งทรงเจริญ (พีอาร์) แพทย์ประจำบ้านภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลรามาธิบดี รุ่นที่ 20 “ผู้ที่เชื่อว่าครอบครัวจะสวยงามได้ เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเรา” 1 มีนาคม 2565 |
เรียบเรียงบทความ โดย คณะกรรมการ KM
ภาพหน้าปกโดย นางสาวมณีนุช กาเซ็มตีมะ