ผลลัพธ์ของแผนการฝึกอบรม/หลักสูตร

ผลสัมฤทธิ์ของแผนงานฝึกอบรม

แพทย์ที่จบการฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางสาขารังสีร่วมรักษาของลำตัว ต้องมีผลลัพธ์การฝึกอบรมที่พึงประสงค์ (intended learning outcomes / milestones) ที่ชัดเจน ครอบคลุมประเด็นทั้ง 6 ด้าน ดังต่อไปนี้
1. การบริบาลผู้ป่วย (Patient care)
ก.    การบริบาลโดยใช้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางบนพื้นฐานของการดูแลแบบองค์รวม คำนึงถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย รวมทั้งสามารถปฏิบัติงานในสาขารังสีร่วมรักษาของลำตัวได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องมีการกำกับดูแล ประกอบด้วย
ข.    ทักษะในการให้คำปรึกษาแนะนำ (Counseling) และมีทักษะในการขอความยินยอม (Obtaining informed consent) เกี่ยวกับการตรวจทางภาพรังสีวินิจฉัย การทำหัตถการทางรังสีร่วมรักษาของลำตัวให้แก่ผู้ป่วยและญาติ รวมถึงแพทย์สาขาอื่นได้อย่างเหมาะสมกับข้อบ่งชี้ของโรค โดยยึดถือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางบนพื้นฐานของการดูแลแบบองค์รวม คำนึงถึงประสิทธิภาพ ความปลอดภัย ความเสี่ยงและประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นหลัก
ค.    มีทักษะในการเตรียมและดูแลผู้ป่วยที่มารับการตรวจวินิจฉัยและทำหัตถการทางรังสีร่วมรักษาของลำตัวได้อย่างเหมาะสม ทั้งก่อนทำ ขณะทำและหลังทำการรักษา
ง.    มีทักษะในการตรวจพบภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างการตรวจวินิจฉัย และการทำหัตถการทางรังสีร่วมรักษาของลำตัว และสามารถให้การดูแลรักษาเบื้องต้นได้อย่างเหมาะสม หรือปรึกษาแพทย์ในสาขาอื่นต่อได้ถูกต้องเมื่อจำเป็น
2.  ความรู้และทักษะหัตถการเวชกรรม (Medical knowledge and procedural skills) สามารถทำเวชปฏิบัติได้อย่างครอบคลุมและเหมาะสม
ก.    มีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และมีทักษะในการวิเคราะห์แปลผลข้อมูลทางคลินิก รวมถึงภาพการตรวจทางรังสีวิทยา เพื่อประยุกต์ใช้ในการวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง
ข.    มีความรู้และทักษะพื้นฐานในการตรวจและรายงานผลทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาของลำตัว
ค.    รู้ข้อบ่งชี้ ข้อห้าม ข้อดี ข้อเสีย ข้อจำกัด ความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนในการตรวจทางรังสีร่วมรักษาของลำตัว
ง.    มีความรู้ความสามารถในวิชาชีพ และมีทักษะในการทำหัตถการของรังสีร่วมรักษาของลำตัว รวมถึงทักษะในการแก้ไขภาวะแทรกซ้อนได้อย่างเหมาะสม
จ.    มีความรู้ทางคลินิกด้านอื่นๆ ที่ช่วยในการดูแลผู้ป่วยได้ด้วยตนเองทั้งก่อนทำ ขณะทำและหลังทำหัตถการทางรังสีร่วมรักษาของลำตัว  ตลอดจนการติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง
3. ทักษะระหว่างบุคคลและการสื่อสาร (Interpersonal and communication skills)
ก.    สื่อสารให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยและญาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเมตตาเคารพการตัดสินใจ  
    และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ได้แก่
-    การสื่อสารเกี่ยวกับวิธีการตรวจและรักษาทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาของลำตัว
-    การขอใบแสดงความยินยอม
-    การสื่อสารเกี่ยวกับข้อผิดพลาด ภาวะแทรกซ้อน หรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์  
ข.    สื่อสารให้ข้อมูลโดยการรายงานผลการตรวจเป็นเอกสาร (reports) หรือด้วยวาจา กับผู้ป่วยและญาติ รวมถึงทีมดูแลสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ค.    นำเสนอข้อมูลผู้ป่วย และอภิปรายปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ง.    เป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำ รวมถึงถ่ายทอดความรู้ทางรังสีร่วมรักษาของลำตัวให้แก่แพทย์ นักศึกษาแพทย์ และบุคลากรอื่น
จ.    มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีความสามารถในการทำงานเป็นทีมร่วมกับสหวิชาชีพและผู้ร่วมงานทุกระดับได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. การเรียนรู้และการพัฒนาจากฐานการปฏิบัติ  (Practice-based learning and improvement)
ก.    มีความสามารถในการเรียนรู้และเพิ่มประสบการณ์จากการปฏิบัติงานในหน่วยงาน รวมทั้งปฏิบัติงานแบบสหวิชาชีพหรือเป็นทีมได้อย่างเหมาะสม
ข.    ดำเนินการวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุขได้
ค.    วิพากษ์บทความ และงานวิจัยทางการแพทย์ได้
5. ความสามารถในการทำงานตามหลักวิชาชีพนิยม (Professionalism) รวมทั้งคุณลักษณะของความเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต (continue medical education) หรือการพัฒนาวิชาชีพต่อเนื่อง (continue professional development) โดยแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมแห่งวิชาชีพที่ดีของแพทย์ดังนี้
ก.    คำนึงถึงหลักการและเคารพในสิทธิผู้ป่วย ไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วย (เพศ เชื้อชาติ ศาสนา)
ข.    มีคุณธรรม จริยธรรม และเจตคติอันดีต่อผู้ป่วย ญาติ ผู้ร่วมงาน เพื่อนร่วมวิชาชีพและชุมชน

ค.    มีทักษะด้านที่ไม่ใช่เทคนิค (non-technical skills) และสามารถบริหารจัดการได้
ง.    มีความสนใจใฝ่รู้ และสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้เรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต (continue professional development)
จ.    มีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพและมีเจตคติที่ดี ที่จะใช้ความรู้ทางรังสีร่วมรักษาของลำตัวในการให้บริการสุขภาพแบบองค์รวมแก่ประชาชนทุกระดับ
ฉ.    มีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย
ช.    คำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม
6. การทำเวชปฏิบัติให้สอดคล้องกับระบบสุขภาพ (Systems-based practice)
ก.    สามารถปฏิบัติงานเข้ากับระบบงานทางรังสีร่วมรักษาของลำตัวได้อย่างเหมาะสม รวมถึงมีความรู้และมีส่วนร่วมด้านการประกันคุณภาพ (quality assurance) และระบบพัฒนาคุณภาพ (quality improvement) การดูแลผู้ป่วยทางรังสีร่วมรักษาของลำตัว
ข.    มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสุขภาพของประเทศ
ค.    มีความเข้าใจกระบวนการในการกำกับดูแลความปลอดภัยทางด้านรังสี (radiation safety) ต่อทั้งผู้ป่วย ญาติ บุคลากรที่เกี่ยวข้อง
ง.    ใช้ทรัพยากรสุขภาพอย่างเหมาะสม (cost consciousness medicine) สามารถพิจารณาต้นทุน ความเสี่ยงและประโยชน์ในการเลือกตรวจรักษาทางรังสีร่วมรักษาของลำตัวได้อย่างเหมาะสม และสามารถปรับเปลี่ยนการดูแลรักษาผู้ป่วยให้เข้ากับบริบทของการบริการสาธารณสุขได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ