สารพิษ (Poisons)

 

          พิษวิทยา (Toxicology) เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งซึ่งศึกษาถึงผลกระทบของสารเคมีต่างๆ ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อม พิษวิทยาจึงมีส่วนสัมพันธ์กับวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น เภสัชวิทยา ชีวเคมี สรีรวิทยา สาธารณสุข แพทยศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และนิเวศน์วิทยา เป็นต้น พิษวิทยาจึงมีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของมนุษย์ ปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ได้ก้าวหน้าไปมากเช่น การผลิต สังเคราะห์ยา และสารเคมีชนิดใหม่ๆได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตลอดจนความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม สิ่งที่ตามมาก็คือผลกระทบจากวิทยาการใหม่ๆ ต่อชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และพืช ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ผู้ที่ได้รับสารพิษ (toxic substance) โดยตรงหรือโดยอ้อมมักเกิดอาการเป็นพิษต่างๆ ซึ่งต้องพึ่งแพทย์ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาตามอาการที่ปรากฏ ดังนั้นความรู้และความเข้าใจทางพิษวิทยาคลินิกจะช่วยในการตรวจวินิจฉัยตลอดจนรักษาโรคอันสืบเนื่องจากสารพิษต่างๆ ได้อย่างแม่นยำและถูกต้อง
 
          โดยทั่วไปแล้วนิยามของความเป็นพิษ (toxicity) จากสารต่างๆนั้น กำหนดเป็นสากลด้วยค่า LD50 (lethal dose at 50%) เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินว่าสารต่างๆ ที่มนุษย์ได้รับจะเป็นอันตรายมากน้อยเพียงไร โดยทดลองให้ปริมาณ (dose) ของสารเคมี หรือยาต่างๆ ในสัตว์ทดลอง เช่น หนู, กระต่าย, สุนัข, แมว เป็นต้น LD50จะเป็นขนาดของยาหรือสารเคมี ซึ่งสัตว์ทดลองรับเข้าสู่ร่างกายโดยวิธีใดๆ เช่น รับประทาน หายใจผ่านทางผิวหนังหรือฉีด แล้วทำให้สัตว์ทดลองตายไป 50% จากสัตว์ทดลองที่ใช้ทั้งหมด ตัวอย่างเช่นสาร A จะมีความเป็นพิษมากกว่าสาร B และสาร C ตามลำดับ (รูปที่ 1)
 
          การสาธิตค่า LD50ของสารต่างๆ โดยการนำเข้าสู่ร่างกาย (route of administration) ด้วยวิธีต่างๆ พบว่าสารแต่ละชนิดจะมีความเป็นพิษแตกต่างกัน ดังแสดงไว้ใน (ตารางที่ 1) ค่า LD50 ของสารใดที่มีค่าต่ำแสดงว่าสารนั้นจะมีความเป็นพิษสูงเช่น botulinus toxin จะมีความเป็นพิษสูงกว่า tetrodotoxin เมื่อให้สารโดยการฉีดเข้าเส้นเลือดดำ การเปรียบเทียบความเป็นพิษของสารแต่ละชนิดว่ามีความรุนแรงต่างกันเพียงไร ต้องคำนึงถึงการได้รับสารนั้นๆ เข้าสู่ร่างกายโดยวิธีเดียวกัน เช่น โดยการฉีดเข้าเส้นเลือด หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือรับประทาน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อ การดูดซึมของสารนั้นๆ เข้าสู่กระแสโลหิต สารชนิดหนึ่งๆ อาจเป็นพิษเมื่อฉีดเข้าร่างกาย แต่ขณะเดียวกันไม่ส่ออาการเป็นพิษเมื่อรับประทานเข้าไป ความรุนแรงของสารพิษต่างๆ สามารถจำแนกลำดับความเป็นพิษได้ 6 ประเภท (ตารางที่ 2)
 
          นอกจากทราบค่า LD50 แล้วยังต้องคำนึงถึงค่า ED50 (effective dose at 50%) ซึ่งเป็นปริมาณของสารเคมีหรือยาต่างๆ ซึ่งเมื่อรับเข้าสู่ร่างกายแล้วสามารถแสดงประสิทธิภาพในการรักษา 50% ของสัตว์ทดลองทั้งหมด จากการเปรียบเทียบค่า LD50 และ ED50ของสารต่างๆ สามารถนำมาคำนวณหาดัชนีของการรักษาของสารนั้นๆ (TI หรือ therapeutic index)
 
 TI  =   LD50/ED50
      
         ค่า TI จะบ่งบอกถึงความปลอดภัยของสารต่างๆ รูปที่ 2 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณสารและการตอบสนองต่อสารนั้นๆ (dose response curve) เพื่อดูผลของสารในแง่การรักษา (ED50) และผลของสารที่ทำให้สัตว์ทดลองตายไป 50% (LD50) ถ้ากราฟของ LD50เคลื่อนมาทางซ้ายจะพบว่าค่า TI จะเล็กลงซึ่งแสดงว่าสารนั้นๆ จะมีความปลอดภัยน้อยลง หรือพูดได้อีกนัยหนึ่งว่าสารนั้นๆ มีความเป็นพิษมากขึ้น
         
         การทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ทดลองต่างๆ นั้นเพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานซึ่งจะนำไปประเมินความปลอดภัยของการใช้สารนั้นๆ ในมนุษย์ ซึ่งต้องเลือกชนิดของสัตว์ทดลองให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงระบบดูดซึมตลอดจนระบบกำจัดสารนั้นๆ ให้ใกล้เคียงกับมนุษย์มาก ที่สุดเพื่อประเมินและประมาณความเป็นพิษ (extrapolation) ของสารนั้นๆ ต่อมนุษย์ เนื่องจากจริยธรรมทางการแพทย์จะไม่มีการทดลองขนาดของยา หรือสารต่างๆ ในมนุษย์โดยตรงเพื่อดูผลการใช้รักษาตลอดจนพิษภัยของสารนั้นๆ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องทำการทดลองในสัตว์ทดลองดังกล่าว เมื่อได้ขนาดของยาในสัตว์ทดลองแล้วสามารถนำไปเปรียบเทียบขนาดของยาที่จะใช้ในคน เพื่อให้ได้ขนาดของยาที่เหมาะสมที่จะนำไปใช้ในคน (ตารางที่ 3)
 
         แพทย์ทุกท่านควรจะตระหนักถึงพิษภัยของสารเคมีและยาต่างๆ เมื่อมีคนไข้มารับการรักษา สารพิษที่คนไข้ได้รับอาจเกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุ หรือการฆ่าตัวตายโดยรับประทานสารพิษนั้น การจดบันทึกอย่างละเอียด และรอบคอบเกี่ยวกับสารเคมีและยาต่างๆ ที่คนไข้ได้รับก่อนนำส่งโรงพยาบาล ตลอดจนสังเกตอาการของคนไข้ที่ได้รับสารพิษจะช่วยในการวินิจฉัยสารพิษได้ถูกต้อง รวมไปถึงประสิทธิภาพในการรักษา ซึ่งจะได้กล่าวถึงรายละเอียดในบทต่อไป
 
         สถานที่ซึ่งพบผู้ป่วยในขณะแสดงอาการพิษของสารต่างๆ มีส่วนช่วยในการสืบค้นสารพิษได้ เช่นในบ้านจะพบว่ามีการใช้สบู่ ผงซักฟอก น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาดับกลิ่น สเปรย์ฆ่าแมลง และยาต่างๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน คนไข้ที่มาโรงพยาบาลในกรณีนี้มัก เป็นเด็กเล็กๆ เป็นส่วนใหญ่ มีพบบ้างที่เป็นคนไข้ที่รับประทานเพื่อฆ่าตัวตาย หรือเกิดอุบัติเหตุพลั้งเผลอ ในสวนหรือไร่นานั้นมีการใช้ปุ๋ยและสารเคมีกำจัดแมลงและศัตรูพืชมากมาย ผู้ป่วยมักจะรับสารพิษโดยทางหายใจหรือสัมผัสด้วยผิวหนัง ดังนั้นการรับพิษจากสารพิษในผู้ป่วยประเภทนี้มักจะสืบเนื่องจากอาชีพ ในโรงงานนั้นมีการใช้สารเคมีมากมายขึ้นอยู่กับชนิดของโรงงานที่ผลิตหรือใช้สารเคมีนั้นๆ ระหว่างผลิตหรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่สังเคราะห์ขึ้น ก็พบได้เกี่ยวเนื่องกับอาชีพ เช่นโรงงานแบตเตอรี่ โรงงานผลิตสี โรงงานพลาสติก โรงงานชุบโลหะ โรงงานทอผ้า โรงงานสีย้อม โรงงานผลิตสารเคมี เป็นต้น 
 
         การป้องกันหรือระวังตัวในขณะทำงานเกี่ยวข้องกับสารต่างๆ จะช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดพิษจากสารนั้นๆ ได้ ข้อควรระวังต่างๆ ต่อไปนี้จะช่วยป้องกันการได้รับพิษเช่น
  1. เก็บยาและสารเคมีต่างๆ ที่เป็นอันตรายให้พ้นจากมือเด็ก โดยเก็บในที่มิดชิด หรือในตู้ที่ปิดกุญแจ
  2. ทิ้งภาชนะต่างๆ เช่น กระป๋องสเปรย์ น้ำยาทำความสะอาด และผลิตภัณฑ์ ต่างๆ ที่ใช้หมดแล้วลงในขยะ ก่อนทิ้งควรล้างภาชนะด้วยน้ำสะอาด
  3. ปิดฉลากยา หรือสารเคมีต่างๆ ให้ชัดเจน เพื่อป้องกันการพลั้งเผลอหยิบสารผิดในขณะที่จะนำไปใช้
  4. ควรทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไอระเหยของ สารเคมีในที่โล่ง มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ตลอดจนมีเครื่องป้องกันการได้รับสารพิษนั้นๆ เช่น ถุงมือ แว่นตานิรภัย ที่ปิดจมูกเป็นต้น
  5. ไม่ควรหยิบยาในที่มืด หรือขณะง่วงนอน เพราะมีโอกาสพลั้งเผลอผิดพลาดได้มากที่จะนำยาผิดไปใช้
  6. ไม่นำขนมหรือลูกกวาดต่างๆไว้ในตู้ยา เพราะจะทำให้เด็กเล็กเข้าใจผิดว่าเป็นขนมรับประทานได้
  7. ให้ความรู้ และการศึกษาถึงพิษภัยของสารเคมี และยาต่างๆ อันพึงจะเกิดขึ้นได้ ตลอดจนวิธีการแก้ไขและรักษาอย่างง่ายๆ ก่อนที่จะนำส่งแพทย์เพื่อการรักษาต่อไป
เอกสารอ้างอิง
  1. Amdur MO, Doull J, Klaassen CD. Casarett and Doull's Toxicology: the basic science of poisons. 4th ed. New York: Pergamon press, 1991.
  2. Gosselin RE, Smith RP, Hodge HC. Clinical toxicology of commercial products. 5th ed. Baltimore: Williams & Wilkines, 1984.
  3. Gossel TA, Bricker JD. Principles of clinical toxicology. 2nd ed. New York: Raven press, 1990.
  4. Loomis TA. Essentials of toxicology. 3rd ed. Philadelphia: Lea & Febiger, 1978.