หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต

 

หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต
Master of Nursing Science Program

      โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่อยู่ในคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
       โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี มีพันธกิจหลักที่สำคัญคือ ผลิตพยาบาลออกไปรับใช้สังคมด้านการดูแลสุขภาพของประชาชน ซึ่งมีหลักสูตรผลิตพยาบาลตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยมีอาจารย์ผู้สอนและอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการพยาบาลที่จะช่วยให้นักศึกษาสำเร็จการศึกษาอย่างมีคุณภาพ นักศึกษาที่สำเร็จจากหลักสูตรจะมีความรู้ทางวิชาการด้านการพยาบาลและการวิจัยที่เข้มแข็ง เป็นพื้นฐานในการเรียนต่อในหลักสูตรปริญญาเอก หรือหลักสูตรฝึกอบรมขั้นสูงระดับวุฒิบัตร (เทียบเท่าปริญญาเอก) สาขาการพยาบาลต่อไป
นักศึกษาสาขาวิชาการพยาบาลเด็ก และนักศึกษาสาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่ ถ่ายภาพร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษาและประธานหลักสูตร ในโอกาสที่ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่นในงานประกวดวิทยานิพนธ์ประจำปีการศึกษา 2554 จาก บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล

หลักสูตรที่เปิดสอนในระดับปริญญาโท มี 5 สาขาวิชาประกอบด้วย
- หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลเด็ก
- หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่
- หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน (ภาคพิเศษ)
- หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต
- หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการผดุงครรภ์
 
ทั้ง 5 หลักสูตรนี้ เป็นหลักสูตรที่มีมาตรฐานผ่านการรับรองจากสภาการพยาบาลและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ทุกหลักสูตรและในปีการศึกษา 2557 จะเปิดหลักสูตรหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชาการพยาบาลผู้สูงอายุด้วย
 

ผู้ที่สำเร็จจากหลักสูตร จะมีคุณลักษณะและความสามารถ ดังนี้

- มีคุณธรรม จริยธรรมเชิงวิชาการ และมีจรรยาบรรณวิชาชีพ
- มีทักษะในการศึกษาค้นคว้ารวบรวมแนวคิด หลักการ ทฤษฎีทางการพยาบาลและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องใน
    สาขาการพยาบาล
- วิเคราะห์ สังเคราะห์ ความรู้จากศาสตร์ทางการพยาบาลและศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้องและทำวิจัยและนำเสนอ
    เพื่อนำไปปรับปรุงคุณภาพการปรับปรุงการพยาบาลในสาขาที่เลือกศึกษา
- มีทักษะในการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นอย่างเหมาะสม รับผิดชอบในการทำงานและ พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
- สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการสื่อสารได้อย่างเหมาะสม รวมถึงการจัดการข้อมูลทางการวิจัย
    และการพยาบาล
 

หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลเด็ก(Pediatric Nursing)

หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลเด็ก เป็นหลักสูตรการดูแลสุขภาพเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง
วัยรุ่นและครอบครัวเพื่อตอบสนองความต้องการด้านสุขภาพในทุกสภาวะโดยการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันการเจ็บป่วย การดูแลรักษา การฟื้นฟูสภาพ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเด็กทั้งในภาวะปกติ มีภาวะเสี่ยงและภาวะเจ็บป่วย
 
วัตถุประสงค์ ผลิตมหาบัณฑิตให้เป็นนักวิชาการ และปฏิบัติการพยาบาลได้อย่างมีคุณภาพครอบคลุมทุกมิติ
ให้การพยาบาล โดยยึดหลักปรัชญาการบริการสุขภาพแบบองค์รวมและความหลากหลายทางวัฒนธรรมและยึดครอบครัวเป็นศูนย์กลางในการตอบสนองความต้องการของเด็กและครอบครัว มีความสามารถทำการวิจัย มีจริยธรรมทางวิชาการและจรรยาบรรณวิชาชีพ การจัดการเรียนการสอนมุ่งเน้นที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง พัฒนาให้ผู้เรียนมุ่งผลเพื่อผู้อื่น สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต และสามารถใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยและการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์
 

หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่ (Adult Nursing)

หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่ เป็นหลักสูตรที่เน้นการดูแลสุขภาพวัยผู้ใหญ่
และครอบครัวที่มี ปัญหาสุขภาพซับซ้อน เป็นหลักสูตรที่จัดทำเพื่อเชื่อมโยงศาสตร์ด้านการพยาบาล การแพทย์ และศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในการพยาบาล ผู้มีปัญหาสุขภาพวัยผู้ใหญ่
 
วัตถุประสงค์ผลิตมหาบัณฑิตให้มีความรู้ความสามารถในการดูแลสุขภาพของบุคคลวัยผู้ใหญ่ครอบคลุมทุกมิติเป็น
นักวิชาการ และนักวิชาชีพการพยาบาล และมีความสามารถทำการวิจัย มีจริยธรรมในการทำวิจัยและใช้ผลงานทางวิชาการ และมีจรรยาบรรณวิชาชีพ การจัดการเรียนการสอนมุ่งเน้นที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง พัฒนาให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต สามารถใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยและการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการพยาบาลผู้ป่วยผู้ใหญ่ได้
 

หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน
(Community Health Nurse Practitioner)(ภาคพิเศษ เรียน เสาร์-อาทิตย์)

หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน มีความเชื่อว่าการจัดการศึกษา
หลักสูตร พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต เป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
 
วัตถุประสงค์มุ่งผลิตมหาบัณฑิตที่มีคุณธรรมจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ เป็นนักวิชาการ/วิชาชีพที่มีความรู้
ความสามารถใน การพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน มีภาวะผู้นำ สามารถทำงานร่วมกับทีม สหสาขาวิชาชีพและผู้ที่เกี่ยวข้อง มีศักยภาพในการศึกษาวิจัยและการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ในการจัดการปัญหาสำคัญทางสุขภาพและพัฒนาคุณภาพการปฏิบัติงานและระบบบริการสุขภาพ บริการวิชาการเพื่อให้บุคคล ครอบครัวและชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพ
 

หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช
(Mental Health and Psychiatric Nursing

หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต เป็นหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับ
การให้การดูแล ช่วยเหลือ ส่งเสริมให้บุคคลมีความสามารถที่จะปรับตัวกับสิ่งแวดล้อม สามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
 
วัตถุประสงค์มุ่งเน้นผลิตมหาบัณฑิตที่สามารถบูรณาการความรู้ทางการพยาบาลและศาสตร์ที่เกี่ยวข้องในการดูแล
ด้านจิตเวชและ สุขภาพจิตของบุคคลให้ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อความเป็นนักวิชาการและนักวิชาชีพการพยาบาลที่มีความรู้ ความสามารถทำการวิจัย และมีจริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ
 

หลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการการผดุงครรภ์(Midwifery)

หลักสูตรมุ่งผลิตมหาบัณฑิตที่มีศักยภาพระดับสูง ในการบูรณาการความรู้เฉพาะสาขา ร่วมกับศาสตร์สาขาอื่นๆ
เพื่อจัดการการดูแล สุขภาพสตรีวัยเจริญพันธุ์ระยะมีบุตรและครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพ ธำรงไว้ซึ่งหลักวิชาการ จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ จัดการเรียนการสอนโดยมุ่งเน้นที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง พัฒนาให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต และรู้จักใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยและการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์
 
โครงสร้างหลักสูตร

จัดการศึกษาตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่อง เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิต ศึกษา พ.ศ. 2548
หลักสูตรปริญญาโท แผน ก แบบ ก2(เรียนรายวิชาและทำวิทยานิพนธ์) ดังนี้
 
(1) หมวดวิชาแกน 9 หน่วยกิต
(2) หมวดวิชาบังคับ 12 หน่วยกิต
(3) หมวดวิชาเลือก ไม่น้อยกว่า 3 หน่วยกิต
(4) วิทยานิพนธ์ 12 หน่วยกิต
  รวมไม่น้อยกว่า 36 หน่วยกิต
 
หมวดวิชาแกน   9   หน่วยกิต ทุกสาขาจะเรียนด้วยกัน ประกอบด้วยวิชา
 
วิทยาระเบียบวิธีวิจัยและการใช้ผลการวิจัย 3 หน่วยกิต
สถิติ 2 หน่วยกิต
มูลฐานทางทฤษฎีในการปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง 2 หน่วยกิต
นโยบายสุขภาพกับภาวะผู้นำทางการพยาบาล 2 หน่วยกิต
 
ระยะเวลาการศึกษา ระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษาตลอดหลักสูตร 2 ปีการศึกษา
ระบบการศึกษา ใช้ระบบการศึกษาแบบหน่วยกิต ทวิภาค
 
คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
1. เป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (การพยาบาลและผดุงครรภ์) หรือพยาบาลศาสตรบัณฑิต
    หรือประกาศนียบัตรทางการพยาบาลเทียบเท่าปริญญาตรี
2. ได้แต้มระดับคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรไม่ต่ำกว่า 2.50
3. มีใบประกอบวิชาชีพการพยาบาลและผดุงครรภ์ชั้น 1 หรือ การพยาบาลชั้น 1
4. มีประสบการณ์การทำงานในด้านการพยาบาล การศึกษาพยาบาล และ/หรือการบริหารการพยาบาล
    หลังจากสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีอย่างน้อย 1 ปี
5. ผู้ที่มีคุณสมบัตินอกเหนือจากเกณฑ์ข้างต้น อาจได้รับการพิจารณาให้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเข้าศึกษา
    ตามดุลยพินิจของประธานหลักสูตรและคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย
 
สถานที่จัดการเรียนการสอน
เรียนที่โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
(เลขที่ 270 ถนนพระราม 6 แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร)
 
สำหรับสถานที่ฝึกภาคปฏิบัติ หลักสูตรได้จัดให้ฝึกที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และในชุมชนที่อยู่ในเขตรับผิดชอบของ
โรงพยาบาล รามาธิบดีรวมทั้งศูนย์สุขภาพชุมชนและโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
 
การเปิดเรียน
การศึกษาภาคต้น ประมาณสัปดาห์ที่๒ ของเดือนสิงหาคม ถึงสัปดาห์ที่ 1 ของเดือนธันวาคม
การศึกษาภาคปลาย ประมาณสัปดาห์ที่๑ ของเดือนมกราคม ถึงสัปดาห์ที่ 1 ของเดือนพฤษภาคม
การศึกษาภาคฤดูร้อน (สำหรับหลักสูตรภาคพิเศษ) ประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พฤษภาคม ถึงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน กรกฎาคม
 
ค่าใช้จ่ายในการศึกษา
ค่าหน่วยกิต หน่วยกิตละ 900บาท ค่าบำรุงการศึกษา ค่ากิจกรรมนักศึกษา ค่าบริการ internet
รวมค่าใช้จ่ายในการเรียน ประมาณปีละ 50,000 บาท (ไม่รวมค่าที่พัก และการเดินทาง)
 
อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร
รองศาสตราจารย์ ดร. อรสา พันธ์ภักดี รองผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีฝ่ายบัณฑิตศึกษา และวิจัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อัจฉรียา ปทุมวัน ประธานหลักสูตรฯสาขาวิชาการพยาบาลเด็ก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิโรบล กนกสุนทรรัตน์ ประธานหลักสูตรฯสาขาวิชาการพยาบาลผู้ใหญ่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. โสภิณ แสงอ่อน ประธานหลักสูตรฯสาขาวิชาการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พัชรินทร์ นินทจันทร์ ประธานหลักสูตรฯสาขาวิชาการพยาบาลจิตเวชและ สุขภาพจิต (ภาคพิเศษ)
รองศาสตราจารย์ ดร.นพวรรณ เปียซื่อ ประธานหลักสูตรฯสาขาวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน(ภาคพิเศษ)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันทนา มณีศรีวงศ์กุล ประธานหลักสูตรฯสาขาวิชาการพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จันทิมา ขนบดี ประธานหลักสูตรฯสาขาวิชาการผดุงครรภ์
 
ติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
สำนักงานหลักสูตรบัณฑิตศึกษาและวิจัย
โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
โทร. 02 201- 2018