เกี่ยวกับสาขา

ประวัติความเป็นมา

 

    เมื่อแรกเปิดคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีในปี พ.ศ. 2512 ได้จัดตั้ง “หน่วยเวชศาสตร์อุตสาหกรรม (Industrial Medicine)” สังกัดภาควิชาอายุรศาสตร์ เพื่อดูแลปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโรคที่เกิดจากการทำงานในด้านอุตสาหกรรม โดยมีรองศาสตราจารย์นายแพทย์สมจิตต์  วิริยานนท์ เป็นหัวหน้าหน่วยฯ และได้ดำเนินงานด้านการสอนนักศึกษาแพทย์ แพทย์ฝึกหัด  และแพทย์ประจำบ้าน โดยเน้นทางด้านพิษวิทยาคลินิกและอาชีวเวชศาสตร์ (Occupational Healthและในปี พ.ศ. 2515 หน่วยฯได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หน่วยพิษวิทยา”    ซึ่งในเวลาต่อมาวิชาการด้านเภสัชวิทยาคลินิก (Clinical Pharmacology) ได้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น ประกอบกับในปี พ.ศ. 2524 อาจารย์นายแพทย์พลวัต เจณณวาสิน และอาจารย์นายแพทย์สมิง เก่าเจริญ (ตำแหน่งในขณะนั้น) ได้สำเร็จการฝึกอบรมด้านเภสัชวิทยาคลินิกและพิษวิทยาจากประเทศสหรัฐอเมริกากลับมาในเวลาใกล้เคียงกัน จึงเป็นกำลังที่สำคัญในการพัฒนางานด้านเภสัชวิทยา อาทิเช่นการเลือกใช้ยาอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับผู้ป่วย การปรับยาให้เหมาะสมกับโรคและภาวะของผู้ป่วยแต่ละราย  ทางหน่วยฯได้นำวิชาการใหม่ๆ ใน 2 แขนงมาประยุกต์ใช้ในด้านการเรียน การสอน การวิจัย และการบริการ  แต่ในปี พ.ศ. 2525 หน่วยฯได้เสียกำลังที่สำคัญไปเนื่องจากอาจารย์นายแพทย์พลวัต เจณณวาสินเสียชีวิตจากการประสบอุบัติเหตุทางเรือ   อย่างไรก็ตาม กิจกรรมต่างๆของหน่วยก็ยังคงดำเนินการต่อไปและเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่ทำ เมื่อปี พ.ศ. 2527 หน่วยฯจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หน่วยเภสัชวิทยาคลินิกและพิษวิทยา”  จนถึงปัจจุบัน

 

     เมื่อประเทศไทยได้พัฒนาตามแนวทางของประเทศอุตสาหกรรม ประกอบกับมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การขยายตัวทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการใช้สารเคมีภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการใช้ยารักษาโรค   ทำให้มีการใช้สารเคมีในกิจกรรมต่างๆมากขึ้น เป็นผลให้เกิดปัญหาการเกิดเป็นพิษสูงขึ้น แต่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์กลับไม่ได้มีโอกาสได้เรียนรู้วิชาการด้านพิษวิทยาคลินิก เนื่องจากแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาคลินิกและเภสัชวิทยาในประเทศมีเพียงไม่กี่ท่านและจำกัดอยู่ในคณะแพทยศาสตร์เพียงบางแห่งเท่านั้น นอกจากนี้ในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษต้องมีฐานข้อมูลที่ครบถ้วนและทันสมัยประกอบด้วย จึงจะมีผลการดูแลรักษาที่ดี ซึ่งหน่วยงานขององค์การอนามัยโลกคือ International Program of Chemical Safety (IPCS) มีนโยบายสนับสนุนให้ประเทศต่างๆจัดตั้งศูนย์พิษวิทยาขึ้นเพื่อให้บริการและช่วยเหลือประชาชนและแพทย์ด้านพิษวิทยา   ซึ่งหน่วยงาน IPCS ในขณะนั้นนำโดย Dr. John A Haines ได้สนับสนุนให้ศาสตราจารย์นายแพทย์สมิง เก่าเจริญ (หัวหน้าหน่วยฯในขณะนั้น) จัดตั้งศูนย์พิษวิทยาขึ้น โดยระยะแรกได้ดำเนินการอย่างไม่เป็นทางการในที่ทำการของหน่วยฯเอง  เมื่อคณะฯซึ่งคณบดีในขณะนั้น คือศาสตราจารย์นายแพทย์อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะได้จัดตั้งอาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นศูนย์การแพทย์ที่เป็นแหล่งวิจัย ฝึกอบรมและให้บริการทางการแพทย์ที่ทันสมัยและรักษาโรคที่ซับซ้อน โครงการศูนย์พิษวิทยาของหน่วยฯได้รับการบรรจุให้เป็นโครงการหนึ่งของศูนย์การแพทย์ฯด้วย โดยตั้งอยู่ที่ชั้น 2 ของอาคาร  ในการเตรียมการเปิดดำเนินการของศูนย์พิษวิทยานั้น มีผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์วินัย วนานุกูล (ตำแหน่งในขณะนั้น) ซึ่งสำเร็จการฝึกอบรมด้านพิษวิทยาและเภสัชวิทยาจากสหรัฐอเมริกาและกลับมาเมื่อปี พ.ศ. 2538 ได้เป็นกำลังสำคัญร่วมกับนางสาวจารุวรรณ ศรีอาภา นักวิทยาศาสตร์สารสนเทศ และเจ้าหน้าที่ของหน่วยฯ ทำให้ “ศูนย์พิษวิทยา รามาธิบดี” สามารถเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการได้  จนเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2539  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินินาถ เสด็จฯ แทนพระองค์ ทรงประกอบพระราชพิธีเปิดอาคารศูนย์การแพทย์สิริกิติ์  ในโอกาสนี้ “ศูนย์พิษวิทยา รามาธิบดี” จึงได้ขยายการให้บริการแก่แพทย์ บุคคลากรทางการแพทย์และประชาชนเป็นตลอด 24 ชั่วโมงและไม่มีวันหยุดจนถึงปัจจุบัน

 

     การดำเนินงานของศูนย์พิษวิทยามีความเจริญก้าวหน้าเป็นลำดับ มีการสร้างฐานข้อมูลของตนเอง มีการพัฒนารูปแบบการบริการเป็นรูปแบบของ Call Center ในด้านการบริการ มีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นทุกปี ศูนย์ฯยังเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของแพทย์ประจำบ้าน นักศึกษาแพทย์ นักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ พยาบาลและแพทย์จากประเทศเพื่อนบ้าน การทำงานของศูนย์ฯ ยังได้ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ด้านพิษวิทยาของประเทศไทย บุคคลากรของศูนย์ได้เป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญในวงการพิษวิทยาคลินิก ในปีพ.ศ. 2553ศูนย์พิษวิทยายังเป็นกำลังสำคัญร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) และหน่วยงานอื่นๆในการผลักดันและร่วมดำเนินการโครงการเข้าถึงยากำพร้ากลุ่มยาต้านพิษเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนยาต้านพิษของประเทศและเพื่อการเข้าถึงยาของผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วย  ปัจจุบันประเทศไทยมียาต้านพิษจำนวนทั้งสิ้น 10 ชนิดที่จัดหามาให้จากโครงการนี้ในรูปแบบพร้อมใช้และสำรองตามหน่วยบริการประมาณ 120 แห่งทั่วประเทศ

    

นอกจากให้การดูแลผู้ป่วยในประเทศแล้ว ยังให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยที่เกิดพิษในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ประสานให้มีการนาส่งยาต้านพิษไปช่วยเหลือผู้ป่วยที่เกิดโบทูลิซึ่มในประเทศไนจีเรีย ผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารนิเกิลในประเทศมาเลเซีย จากผลงานดังกล่าวทำให้ ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี (Ramathibodi Poison Center) ได้รับแต่งตั้งจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก เพื่อการป้องกันและดูแลด้านพิษวิทยา WHO Collaborating Centre for the Prevention and Control of Poisoning (WHO CC No. THA 84) ตั้งแต่ 18 ตุลาคม 2561

 

     หน่วยเภสัชวิทยาคลินิกและพิษวิทยาได้เป็นผู้ริเริ่มให้จัดตั้งสมาคมพิษวิทยาคลินิกขึ้นและได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ทางด้านการศึกษาในระดับหลังปริญญา หน่วยฯได้ผลักดันให้มีหลักสูตรการอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขาเวชเภสัชวิทยาและพิษวิทยาในแพทยสภา และเริ่มมีการฝึกอบรมฯเป็นครั้งแรกของประเทศไทยในปีการศึกษา 2553 โดยมีแพทย์หญิงสาทริยา ตระกูลศรีชัย เป็นผู้รับการฝึกอบรมคนแรก