เกี่ยวกับสาขา

ประวัติความเป็นมา

สาขาวิชาโรคหัวใจได้เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2511 โดยคณะผู้ก่อตั้งย้ายมาจากสาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราชพยาบาล นำโดยอาจารย์นายแพทย์ ม.ร.ว. พัชรีสาณ ชุมพล ซึ่งเป็นหัวหน้าสาขาวิชาโรคหัวใจเป็นคนแรก อาจารย์นายแพทย์ยศวีร์ สุขุมาลจันทร์ เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั้งโรคหัวใจและโรคปอด อาจารย์แพทย์หญิงวิภา ทองมิตร ซึ่งจบแพทย์ฝึกหัดและแพทย์ประจำบ้านที่โรงพยาบาลศิริราช ทีมพยาบาลได้แก่ คุณดวงตา สุวรรณบัณฑิต     คุณทองทิพย์  ดำรงวัฒน   และเจ้าหน้าที่ตรวจคลื่นฟ้าหัวใจ (electrocardiogram หรือ ECG)     คือ คุณประดับ ยินดีน้อย (จันทนนัฏ) และคุณผวน ยวงย้อย  

เมื่อย้ายมาในระยะแรก สถานที่ทำการของสาขาวิชายังไม่พร้อม จึงไปใช้สถานที่ซึ่งเป็นแผนก ไอ ซี ยู (ชั้น 3) เป็นสำนักงานชั่วคราวระยะหนึ่ง หลังจากนั้นจึงได้ย้ายสำนักงานขึ้นมาอยู่ที่ชั้น 6 อาคาร 1  จนถึงปัจจุบัน ในระยะเริ่มแรกยังไม่ได้แยกการทำงานของสาขาวิชาโรคหัวใจและโรคปอด และเนื่องจากเครื่องมือต่างๆ ยังไม่พร้อมสมบูรณ์ งานบริการในระยะเริ่มแรกส่วนใหญ่จึงเป็นการตรวจ ECG เป็นหลัก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2512 ได้มีแพทย์ที่จบการฝึกอบรมจากต่างประเทศกลับอีก 2 ท่าน คือ อาจารย์นายแพทย์สมชาติ โลจายะ และอาจารย์แพทย์หญิงอัมพร เปรมปรีด์ (ซึ่งมาทำงานในช่วงสั้นๆและลาออกในปี พ.ศ. 2513) จึงได้เริ่มมีการตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการเดินบนสายพาน (exercise treadmill stress test) และการสวนหัวใจ (cardiac catheterization) เพื่อการวินิจฉัย โดยห้องสวนหัวใจในระยะแรกใช้ร่วมกับเครื่องเอกซเรย์ที่ภาควิชารังสีวิทยาที่ห้องเบอร์ 14 ชั้น 2 โดยทำเฉพาะวันจันทร์ อังคาร พุธ ครึ่งวันในตอนเช้า

ในปี พ.ศ. 2514 อาจารย์นายแพทย์ยศวีร์ สุขุมาลจันทร์ ได้แยกตัวออกมาตั้งสาขาวิชาโรคปอด ในช่วงนั้นงานในสาขาวิชาโรคหัวใจเริ่มมากขึ้นตามลำดับ ในปี พ.ศ. 2515 จึงได้บรรจุอาจารย์แพทย์เพิ่มขึ้นอีก 1 ตำแหน่งคือ อาจารย์นายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์ ซึ่งตลอดเวลาที่อาจารย์ทำงานที่รามาธิบดี ท่านเป็นอาจารย์ที่ทุ่มเทเวลาให้กับการเรียนการสอน และแต่งตำราต่างๆ มากมาย และเป็นอาจารย์แพทย์ท่านเดียวที่รับราชการที่สาขาวิชาโรคหัวใจจนเกษียณอายุ 60 ปี   

ในปี พ.ศ. 2518 อาจารย์พัชรีสาณ ได้ลาออกจากราชการและไปตั้งโรงพยาบาลสมิติเวช อาจารย์ที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสาขาวิชาโรคหัวใจคนที่สองได้แก่ อาจารย์นายแพทย์สมชาติ โลจายะ ซึ่งในช่วงระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ. 2518-2528) ที่อาจารย์เป็นหัวหน้าสาขาวิชา อาจารย์สมชาติได้สร้างผลงานทางวิชาการต่างๆ ไว้มากมาย เช่น ตั้งกองทุน “มูลนิธิหน่วยโรคหัวใจ” เพื่อมุ่งเน้นการทำงานวิจัยยาใหม่ๆ เป็นหลัก และที่สำคัญคือ เป็นผู้ริเริ่มงานวิจัย EGAT study ร่วมกับ ศ.นพ.วิชัย ตันไพจิตร ในปี 2528 ซึ่งเป็นการศึกษาระยะยาวในพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย งานวิจัยนี้เป็นข้อมูลของคนไทย และผลงานการวิจัยได้ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่อวงการสาธารณสุขไทยหลายด้าน โดยเฉพาะการสร้างแบบประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งปัจจุบันพบว่าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆในประชากรไทย  

ในด้านการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขาวิชาโรคหัวใจ ได้เปิดการฝึกอบรมครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2518 โดยแพทย์ที่เข้าฝึกอบรมเป็นคนแรกได้แก่ แพทย์หญิงอรวรรณ สุวจิตตานนท์ ซึ่งภายหลังได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์ในปี พ.ศ. 2520 หลังจากที่อาจารย์วิภาได้เสียชีวิตลงกระทันหัน ซึ่งอาจารย์แพทย์หญิงอรวรรณได้เข้ามาช่วยอาจารย์สมชาติในการศึกษาทำงานวิจัยต่างๆ ภายหลังจึงได้ถูกส่งตัวไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศเป็นระยะเวลา 2 ปี ในช่วงนั้นได้มีการบรรจุอาจารย์เพิ่ม ได้แก่ อาจารย์นายแพทย์เกรียงศักดิ์ ตริยานนท์ ซึ่งกลับจากการฝึกอบรมที่ต่างประเทศ และนำเทคโนโลยีการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (echocardiography) มาใช้ที่หน่วยเป็นครั้งแรก ภายหลังอาจารย์ได้ลาออกราชการไปอยู่โรงพยาบาลพญาไท 1 ในปี พ.ศ. 2525

ในปี พ.ศ. 2527 รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศุภชัย ถนอมทรัพย์ ได้กลับจากการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจจากประเทศแคนาดา และได้รับการบรรจุเป็นอาจารย์แพทย์ต่อจากอาจารย์เกรียงศักดิ์ หนึ่งปีถัดมาในปี พ.ศ. 2528 อาจารย์นายแพทย์สมชาติได้ลาออกจากราชการไปอยู่โรงพยาบาลกรุงเทพ อาจารย์แพทย์หญิงอรวรรณ สุวจิตตานนท์ จึงได้เป็นหัวหน้าสาขาวิชาโรคหัวใจคนที่ 3 แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 อาจารย์ก็ได้ลาออกจากราชการไปทำงานอยู่ที่สำนักงานการบินไทย อาจารย์ศุภชัย ถนอมทรัพย์ จึงได้เป็นหัวหน้าสาขาวิชาโรคหัวใจต่อเป็นคนที่ 4

ในปี พ.ศ. 2528 อาจารย์นายแพทย์รังสรรค์ รัตนปราการได้กลับมาบรรจุเป็นอาจารย์แพทย์และนำเทคโนโลยีการตรวจหัวใจด้วยวิธีการฉีดสารรังสีนิวเคลียร์ (exercise thallium myocardial perfusion scan) มาใช้ โดยร่วมมือกับ อาจารย์ แผนกรังสีวิทยาในขณะนั้น และเมื่อครบวาระหัวหน้าสาขาวิชา 2 ปี ของอาจารย์ศุภชัย  อาจารย์รังสรรค์ จึงได้เป็นหัวหน้าสาขาวิชาคนที่ 5 ในช่วงปี พ.ศ. 2532-2533 หลังจากนั้นอาจารย์ได้ลาออกจากราชการไปทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท จนถึงปัจจุบัน

ภายหลังจากที่อาจารย์รังสรรค์ ลาออก อาจารย์ศุภชัย ได้กลับมาดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าสาขาอีกครั้ง ใน ปี พ.ศ. 2534 และอยู่ในตำแหน่งจนมาถึงปี พ.ศ. 2558 จากนั้น ผ.ศ.นพ.ครรชิต ลิขิตธนสมบัติได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสาขาวิชามาจนถึงปัจจุบัน สาขาวิชาโรคหัวใจได้มีการพัฒนางานด้านการเรียนการสอน การวิจัย การพัฒนาบุคลากร และจัดหาอุปกรณ์ที่ทันสมัย เพื่อให้ก้าวทันกับเทคโนโลยีการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดยุคใหม่

หัวหน้าสาขาวิชาจากอดีตถึงปัจจุบัน

  • พ.ศ. 2511-2518 ศาสตราจารย์นายแพทย์ ม.ร.ว. พัชรีสาร ชุมพล
  • พ.ศ. 2518-2528 ศาสตราจารย์นายแพทย์สมชาติ โลจายะ (ถึงแก่กรรม พ.ศ. 2543)
  • พ.ศ. 2528-2529 แพทย์หญิงอรวรรณ สุวจิตตานนท์
  • พ.ศ. 2530-2531 รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศุภชัย ถนอมทรัพย์
  • พ.ศ. 2532-2533 นายแพทย์รังสรรค์ รัตนปราการ
  • พ.ศ. 2534-2556 รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศุภชัย ถนอมทรัพย์
  • พ.ศ. 2556-ปัจจุบัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ครรชิต ลิขิตธนสมบัติ