คำถามเรื่องมะเร็งปากมดลูก

g8.jpg

logo2_7.jpgcervix.jpg

คุณส้ม : ฟังจากที่คุณแดงคุยกับคุณหมอแล้ว ทราบว่ามะเร็งปากมดลูกพบบ่อยมากในผู้หญิงไทย ทำให้รู้สึกกลัวจังค่ะ

คุณหมอ : คุณส้มไม่ต้องกลัวมากค่ะ เพราะมะเร็งปากมดลูกป้องกันได้

คุณส้ม : จริงหรือคะ มะเร็งเนี่ยะ นะคะ ป้องกันได้

คุณหมอ : ใช่ค่ะ ก็อย่างที่บอกคุณแดงไปน่ะค่ะว่า สาเหตุของมะเร็งปากมดลูกคือ การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV, human papilloma virus) ทำให้ปากมดลูกปกติเปลี่ยนเป็นระยะก่อนมะเร็งปากมดลูก และกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกในที่สุด กระบวนการที่กล่าวนี้ใช้เวลา 5-10 ปี มิใช่เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน ดังนั้นการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อไวรัสเอชพีวีก็ดี การตรวจคัดกรองให้เจอเสียตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็งแล้วรักษาให้หายเสียก่อนเป็นการตัดไฟเสียแต่ต้นลมก็ดี ก็เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งปากมดลูกค่ะ

คุณส้ม : ฟังคุณหมอพูดแล้วรู้สึกสบายใจขึ้น เราจะป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีได้ยังไงคะ

คุณหมอ : ไวรัสเอชพีวี ติดต่อทางการสัมผัส แล้วผิวหนังหรือเยื่อบุทางอวัยวะเพศหรือปากมดลูกมีรอยถลอกหรือแผลที่ทำให้เชื้อเข้าไปได้ โดยการสัมผัสที่หมายถึงนี้ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด ก็คือ เพศสัมพันธ์ ถ้าจะไม่ให้ติดเชื้อไวรัสเอชพีวีก็ต้องไม่มีเพศสัมพันธ์ ซึ่งก็ผิดธรรมชาติไปหน่อย ปัจจุบันก็มีวัคซีนเอชพีวี

คุณส้ม : นี่ล่ะค่ะ คุณหมอ วัคซีนเอชพีวีนี่ล่ะค่ะ มีการพูดถึงกันมาก คุณหมอช่วยอธิบายให้ฟังให้ละเอียดหน่อยได้ไหมคะ ลูกสาวดิฉันอายุ 15 ปี ควรฉีดวัคซีนตัวนี้ไหมคะ

คุณหมอ : ยินดีค่ะคุณส้ม ก็จะต้องเรียนให้ทราบว่าเชื้อเอชพีวีมีอยู่ร้อยกว่าชนิด แต่ที่จะทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกก็มีประมาณ 15 ชนิด โดยเบอร์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุร้อยละ 70 ของมะเร็งปากมดลูก ที่เหลือร้อยละ 30 เกิดจากไวรัสเอชพีวีชนิดอื่น (เบอร์อื่น) วัคซีน เอชพีวีที่มีในท้องตลาดปัจจุบันมีอยู่ 2 ชนิด เป็นชนิดที่มีเชื้อเอชพีวี 16, 18 และ 6, 11,16, 18 (เป็นเชื้อที่มีแต่เปลือกไม่ทำให้เกิดโรค) เนื่องจากวัคซีนเอชพีวีทั้งสองชนิดมีเชื้อเบอร์ 16, 18 จึงป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ร้อยละ 70 ไม่ใช่ร้อยละ 100 จึงยังต้องตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกต่อไป ส่วนวัคซีนที่มีเชื้อเบอร์ 6 และ 11 ก็ป้องกันโรคหูดหงอนไก่ที่เกิดจากเชื้อเบอร์ 6 และ 11 ได้ด้วย จนถึงปัจจุบันได้มีการศึกษาพบว่าการฉีดวัคซีนเอชพีวีอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยในผู้หญิงอายุ 9-26, 10-25, และจนถึงอายุ 45 และ 55 ปี วัคซีนเอชพีวีจะได้ประโยชน์สูงสุดเมื่อฉีดก่อนได้รับเชื้อเอชพีวี หรือก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก หากมีเพศสัมพันธ์ไปแล้วก็ขึ้นอยู่กับว่าเคยได้รับเชื้อเอชพีวีชนิดไหนมาแล้ว โดยที่ถ้าได้รับเชื้อเอชพีวีทุกชนิดที่มีอยู่ในวัคซีนมาแล้ว การฉีดวัคซีนก็ไม่ได้ประโยชน์ องค์กรแพทย์แนะนำให้ฉีดวัคซีนเอชพีวีในโปรแกรมการฉีดวัคซีนของเด็กหญิงอายุ 11-12 ปี ทั้งนี้การฉีดวัคซีนในช่วงอายุอื่นก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาเป็นรายๆ ไป การฉีดวัคซีนต้องฉีดทั้งหมด 3 เข็มด้วยกัน คือฉีดเข็มที่หนึ่ง และ 1-2 เดือนจากเข็มแรก และ 6 เดือนจากเข็มแรก โดยราคาของวัคซีนยังค่อนข้างแพง ผลข้างเคียงของวัคซีนตัวนี้ก็เช่นเดียวกันวัคซีนอื่นๆ คือ ปวด บวม แดงร้อน มีไข้ ผลข้างเคียงที่รุนแรงกว่านี้พบได้น้อยมาก สำหรับลูกสาวของคุณส้มอายุ 15 ปี และยังไม่มีเพศสัมพันธ์ ถ้าหากไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย และเข้าใจที่หมออธิบายมาทั้งหมดแล้วก็ฉีดได้ค่ะ

คุณส้ม : คุณหมอคะ อย่างดิฉันอายุ 44 ปีแล้วก็ไม่ต้องฉีดวัคซีนเอชพีวีแล้วใช่ไหมค่ะ

คุณหมอ : คุณส้มมีเพศสัมพันธ์ มีลูกมานานแล้ว โอกาสที่จะได้ประโยชน์จากวัคซีนน้อยค่ะ หมอคิดว่าการป้องกันมะเร็งปากมดลูกกรณีของคุณส้มเอง ควรรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุกปี โดยใช้การตรวจ แป๊ปสเมียร์ เพื่อตรวจให้พบระยะก่อนมะเร็งปากมดลูกถ้ามี และทำการรักษาจะดีกว่าค่ะ

คุณส้ม : การรักษาระยะก่อนมะเร็งปากมดลูกทำอย่างไรคะ เจ็บมากไหม และเป็นผ่าตัดใหญ่หรือเปล่าคะ และจะหายร้อยเปอร์เซ็นหรือเปล่าคะ

คุณหมอ : เนื่องจากระยะก่อนมะเร็งปากมดลูกไม่ใช่มะเร็ง ไม่ลุกลามไม่แพร่กระจาย ดังนั้นจึงอยู่เฉพาะที่ การรักษาภาวะนี้ก็คือ การทำลายเนื้อเยื่อเฉพาะที่ด้วยความเย็นหรือตัดออกด้วยห่วงลวดไฟฟ้า หรือมีด โรคหายเกือบร้อยเปอร์เซ็นค่ะ แต่เพื่อความไม่ประมาทแพทย์จะนัดมาตรวจติดตามเผื่อมีการกลับเป็นซ้ำก็จะได้รักษาให้ใหม่ การรักษาระยะก่อนมะเร็งปากมดลูกเป็นการผ่าตัดเล็กเท่านั้นใช้แต่ยาชาเฉพาะที่โดยไม่ต้องใช้ยาสลบ ทำผ่าตัดเสร็จก็กลับบ้านได้ค่ะ

คุณส้ม : ดิฉันเคยได้ยินว่ามีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแบบป้ายน้ำส้มสายชู ดิฉันไปตรวจแบบนี้ได้ไหมคะ

คุณหมอ : การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยน้ำส้มสายชู หรือเรียกว่าวิธีวีไอเอ (VIA, visual inspection with acetic acid) ใช้น้ำส้มสายชูป้ายปากมดลูก แล้วดูความผิดปกติ เป็นวิธีการตรวจคัดกรองที่ใช้ในที่ซึ่งไม่สะดวกในการทำแป๊ปเสมียร์ หรือขาดแคลนบุคลากรใน ขั้นตอนการย้อมหรือส่องกล้องจุลทรรศน์ดูแป๊ปเสมียร์ คุณส้มอยู่ในเมือง รับการตรวจแป๊ปเสมียร์ดีแล้วค่ะ ส่วนน้องสาวคุณส้มที่อยู่ร้อยเอ็ดก็สามารถไปรับการตรวจวีไอเอ ซึ่งก็ได้ผลดีเช่นเดียวกันค่ะ

คุณส้ม : ดิฉันเคยได้ยินว่ามีการตรวจคัดกรองแบบตรวจเชื้อไวรัสเอชพีวีด้วย วิธีนี้ล่ะคะ ดีไหมคะ และควรให้ลูกสาวตรวจก่อนฉีดวัคซีนเอชพีวีหรือเปล่าคะ

คุณหมอ : การตรวจเชื้อไวรัสเอชพีวี เป็นการตรวจเชื้อไวรัสเอชพีวีชนิดเสี่ยงสูง 13 ชนิดได้ผลเป็นบวกหรือลบ ผลบวกหมายถึงมีไวรัสเอชพีวี แต่ไม่บ่งว่าเป็นชนิดไหนและมีกี่ชนิด การตรวจเชื้อไวรัสเอชพีวีทำในสตรีอายุ 30 ปีขึ้นไป และใช้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกร่วมกับแป๊ปเสมียร์ ส่วนการตรวจเชื้อไวรัสก่อนการฉีดวัคซีนเอชพีวีไม่มีความจำเป็นคะ

คุณส้ม : อ้าว ! ทำไมไม่มีความจำเป็นล่ะค่ะ

คุณหมอ : คืองี้ค่ะ ผลการตรวจเชื้อไวรัสเอชพีวี บ่งว่ามีหรือไม่มีเชื้อในปัจจุบัน ไม่บ่งชนิด (ว่าเป็นเบอร์ 16, 18 ที่มีในวัคซีนหรือเปล่า) และไม่บ่งว่าในอดีตเคยติดเชื้อไวรัสเอชพีวีหรือเปล่าและเคยติดเชื้อชนิดไหน ดังนั้นการทำการตรวจไวรัสก่อนฉีดวัคซีนก็ไม่มีประโยชน์ค่ะ ได้ผลลบก็ไม่ได้หมายความว่าไม่เคยติดเชื้อ คุณส้มพอเข้าใจไหมคะ

คุณส้ม : ค่ะ เข้าใจแล้วค่ะ ทีนี้ถ้าเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้ว พอมีทางรักษาไหมคะ และจะหายไหมคะ

คุณหมอ : มะเร็งปากมดลูกรักษาได้ค่ะ หายหรือไม่ขึ้นอยู่กับโรคเป็นมากน้อยแค่ไหน และตอบสนองกับการรักษาดีหรือไม่ กรณีเป็นน้อยโรคจะหายได้ โรคที่เป็นมากแล้วอาจไม่หายแต่การรักษาจะช่วยยืดชีวิตให้ยาวนานขึ้น ถูกรบกวนจากอาการต่างๆ ของโรคน้อยลง

คุณส้ม : มะเร็งปากมดลูกรักษาด้วยวิธีไหนคะ

คุณหมอ : การรักษาอาจเป็นการผ่าตัด, ฉายแสงใส่แร่, ยาเคมีบำบัดหรือใช้หลายวิธีร่วมกัน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในแต่ละคนที่ไม่เหมือนกันค่ะ สุดท้ายหมอมีคำถามจะถามคุณส้มว่าทราบไหมคะว่าทำไมมะเร็งปากมดลูกในโลก และในไทยจึงลดลง

คุณส้ม : อ้าว ! ก็คุณหมอบอกแล้วไงคะว่าป้องกันโดยการตรวจคัดกรองให้เจอตั้งแต่ระยะก่อนมะเร็ง และปัจจุบันก็มีวัคซีนเอชพีวีเข้ามาเสริมอีก

คุณหมอ : แล้วทำไมสมัยก่อนมะเร็งปากมดลูกจึงพบบ่อยมาก และพบเมื่อเป็นระยะมากแล้ว

คุณส้ม : เอ ! อันนี้คงต้องขอให้คุณหมอไขข้อข้องใจนี้หน่อยนะคะ

คุณหมอ : ค่ะ คือระยะก่อนมะเร็งปากมดลูกไม่มีอาการใดๆ มะเร็งปากมดลูกที่เป็นไม่มากก็ไม่มีอาการ ดังนั้นถ้าไม่มาตรวจภายในประจำปี แล้วรอมาพบแพทย์เมื่อมีอาการ เลือดออกทางช่องคลอด ตกขาวกลิ่นเหม็น หรือปวดท้องน้อย ก็สายไปเสียแล้วค่ะ คือโรคเป็นมากแล้ว จึงอยากเน้นอีกทีว่า เราจะต้องตระหนักว่ามะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่ป้องกันได้ และต้องเห็นความสำคัญของการมาตรวจภายในประจำปี หมดขอให้คุณส้มช่วยกันบอกต่อให้ด้วยนะคะ

คุณส้ม : ได้เลยค่ะคุณหมอ

 

รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงสฤกพรรณ วิไลลักษณ์
หน่วยมะเร็งวิทยานรีเวช
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี