ขอเชิญเข้าร่วมงานประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการแพทย์แผนไทย ครั้งที่ 1/2565

 

 

การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการแพทย์แผนไทย ครั้งที่ 1/2565

เรื่อง         รู้เท่าทัน COVID-19 ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย

วันที่         17 ธันวาคม 2564 เวลา 13.00น.-15.00น.

สถานที่     ประชุมออนไลน์ผ่านทาง Cisco WebEx Meeting และ ห้อง 812 อาคารเรียนและปฏิบัติการรวม

                  ทางการแพทย์และโรงเรียนพยาบาล โรงพยาบาลรามาธิบดี

ผู้บรรยาย   พท.ป.สุชานนท์ เบ้าสุวรรณ และ พท.ป.พนธ์ศภัส องค์ธนะสิน

สรุปเนื้อหา

            จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศไทยที่ผ่านมา ทำให้เกิดแนวทางการใช้ชีวิตวิถีใหม่(New Normal) ไม่ว่าจะเป็นการ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย หรือการล้างมือ เป็นต้น ซึ่งการที่จะสามารถปฏิบัติตนดังนั้นได้ จะต้องมีการตระหนักรู้ในตนเองอยู่ตลอดเวลา และต้องมีการรู้เท่าทันเกี่ยวกับข่าวสารต่างๆที่เข้ามาด้วย เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19ในช่วงที่ผ่านมา ในสังคมออนไลน์ เกิดการส่งต่อข่าวเกี่ยวกับการป้องกันและรักษาโรคด้วยวิธีต่างๆมากมาย หนึ่งในนั้นคือการใช้สมุนไพรไทย    ซึ่งหากนำมาใช้ไม่ถูกวิธี อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพร่างกายได้

            ศาสตร์การแพทย์แผนไทย เป็นศาสตร์การบำบัดรักษาโรคอย่างหนึ่ง ที่อาศัยหลักการพื้นฐานมาจากความเชื่อ ศาสนา วิถีชีวิต และเนื้อหาในพระคัมภีร์ เป็นต้นประกอบไปด้วย 4 วิชาหลักคือ

1. เวชกรรมไทย คือ การรักษาโรคตามตำราในพระคัมภีร์ การรักษาโดยการตรวจประเมินจากธาตุต่างๆ

2. เภสัชกรรมแผนไทย คือ การปรุงยา หรือการใช้ยาสมุนไพร

3. หัตถเวชกรรมแผนไทย คือ การใช้มือในการรักษาโรค เช่น การนวดแผนไทย เป็นต้น

4. ผดุงครรภ์ คือ การดูแลมารดาในระยะหลังคลอด

โดยการตรวจรักษาจะใช้ทฤษฎีที่มองร่างกายของมนุษย์ประกอบจาก 4 ธาตุรวมกัน ได้แก่

1. ธาตุดิน เป็นสภาวะ อ่อน/แข็ง เป็นร่างกายส่วนโครงสร้างต่างๆ

2. ธาตุน้ำ เป็นสภาวะ เกาะกุม/ไหล เป็นร่างกายในส่วนของเหลว โดยมักจะแทรกซึมอยู่กับธาตุดิน

3. ธาตุลม เป็นสภาวะ เคลื่อน/เคร่ง เป็นสภาวะที่ก่อให้เกิดอาการผิดปกติเช่น อาการปวดต่างๆ เป็นต้น

4. ธาตุไฟ เป็นสภาวะ ร้อย/เย็น มักปรากฏให้เห็นความผิดปกติ เช่น อาการตัวร้อน จากไข้ เป็นต้น

อาการและอาการแสดงของการติดเชื้อไวรัส COVID-19 เมื่อพิจารณาจากศาสตร์การแพทย์แผนไทย โดยใช้หลักการวิเคราะห์จากธาตุกำเนิดสมุฏฐาน โดยการเปลี่ยนแปลงของธาตุต่างๆในร่างกาย จะส่งผลทำให้เกิดการเจ็บป่วยตามาได้ ธาตุกำเนิดสมุฏฐานประกอบไปด้วย

1. ธาตุสมุฏฐาน คือ การเปลี่ยนแปลงของธาตุทั้ง 4 ในร่างกาย

2. อุตุสมุฏฐาน คือ การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล

3. อายุสมุฏฐาน คือ การเปลี่ยนแปลงของอายุ

4. กาลสมุฏฐาน คือ การเปลี่ยนแปลงของเวลา

5. ประเทศสมุฏฐาน คือ การเปลี่ยนแปลงของที่อยู่อาศัย สภาพภูมิประเทศที่ไม่เหมาะกับธาตุของตน

6. พฤติกรรม คือ ปัจจัยด้านพฤติกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องเช่น การอดอาหาร เป็นต้น

            การดูแลสุขภาพช่วงCOVID-19 ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย ที่ยั่งยืนคือการป้องกันและดูแลสุขภาพของตนให้แข็งแรง โดยยึดหลักธรรมานามัย นั่นคือ การให้ความสำคัญกับปัจจัยต่างๆที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ อย่างเป็นองค์รวม โดยพิจารณาองค์ประกอบเป็น 3 ส่วนคือ

1. กายานามัย คือ การดูแลร่างกายให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร                            

    ให้ครบ 5 หมู่ เป็นต้น

2. จิตตานามัย คือ การดูแลสุขภาพจิตให้สมบูรณ์ มีความสุข ไม่เครียดหรือวิตกจนเกินไป

3. ชีวิตานามัย คือการดูแลสภาพแวดล้อมและการดำเนินชีวิตอย่างไม่ประมาท อาทิ การใช้ชีวิตแบบ New Normal การรักษาบำบัดโรคเมื่อเกิดอาการผิดปกติ

นอกจากการดำรงตนให้สมดุลตามหลัก ธรรมานามัยแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันนั่นคืออาหาร เนื่องจากวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีการนำผักสมุนไพรต่างๆมาประกอบเป็นอาหารต่างๆมากมาย นอกจากนี้ ยังมีการกระจายข่าวมากมายถึงเรื่องการใช้ยาสมุนไพรไทยมาใช้ในการป้องกันและรักษาอาการและอาการแสดงของการติดเชื้อไวรัส COVID-19 แต่หากมีการใช้งานหรือการปรุงที่ผิดวิธี อาจก่อให้เกิดผลเสียกับร่างกายตามมาได้

หลักการใช้สมุนไพรตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยมีด้วยกัน 5 ประการได้แก่

1. ถูกต้น คือ การนำสมุนไพรมาใช้งานโดยต้องมั่นใจนั้นถูกต้น ถูกชนิด เนื่องจากสมุนไพรบางอย่างมี

    ลักษณะ หรือชื่อเรียกที่คล้ายคลึงกัน  โดยอาจพิจารณาความเหมือน/ความต่างจาก ลักษณะ สี กลิ่น และรส

2. ถูกส่วน คือ การนำส่วนของสมุนไพรมาใช้ให้ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็น ราก ลำต้น ใบ หรือดอก และ  

    ความอ่อน/แก่ของสมุนไพรนั้นๆ เนื่องจากในส่วนที่แตกต่างกัน อาจมีสรรพคุณที่แตกต่างกันได้

3. ถูกขนาด คือ การนำสมุนไพรมาใช้ในปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากการใช้ปริมาณที่

    มากเกินไปหรือใช้เป็นระยะเวลานานเกินไปอาจเกิดการสะสมหรือผลข้างเคียงกับร่างายมากกว่า

    ผลการรักษาได้

4. ถูกวิธี คือ การนำสมุนไพรมาปรุงตามภูมิปัญญาดั้งเดิม ไม่ควรปรับเปลี่ยนเอง เนื่องจากอาจส่งผลต่อ

    ความปลอดภัยได้

5. ถูกโรค คือ การเลือกสมุนไพรที่มีสรรพคุณตรงกับโรค และเป็นแสลงต่อกัน เช่น ในผู้ป่วยที่มีอาการ

     ท้องเสีย ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีรสเปรี้ยวที่มีฤทธิ์ระบาย เพราะอาจทำให้มีอาการมากขึ้นได้

การเลือกรสชาติของอาหารก็มีส่วนสำคัญในการบำบัดและรักษาโรคได้ โดยรสชาติตามหลักศาสตร์การแพทย์แผนไทยสามารถแบ่งจำแนกได้เป็น

1. รสขม ได้แก่ มะระขี้นก ดอกแค บวบ ใบบัวบก เป็นต้น เป็นอาหารรสที่ช่วยแก้ไข้ ทำให้

     เจริญอาหาร ช่วยทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น เป็นอาหารไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการจุกเสียด

2. รสเค็ม ได้แก่ เกลือต่างๆ ใบชะคราม สาหร่ายทะเล เป็นต้น เป็นอาหารรสที่ช่วยให้ถ่ายเมือกมันใน

     ลำไส้ กัดเสมหะ ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไต คอแห้ง ท้องเสีย

3. รสฝาด ได้แก่ กล้วยดิบ ปลีกล้วย เปลือกลูกมังคุด เป็นต้น เป็นอาหารรสที่ช่วยแก้ท้องร่วง คุมธาตุ

    สมานแผล ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการไอ ท้องผูก

4. รสหวาน ได้แก่ น้ำผึ้ง น้ำอ้อย กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ฟักเขียว เป็นต้น เป็นอาหารรสที่ช่วยให้ บำรุง

     เนื้อหนัง บำรุงกำลัง ทำให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำ ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีแผลเรื้อรัง มีเสมหะมาก

5. รสมัน ได้แก่ เผือก มัน ฟักทอง ถั่ว กะทิ เห็ดต่างๆ เป็นต้น เป็นอาหารรสที่บำรุงกำลัง บำรุงไขมัน

     เป็นยาอายุวัฒนะ ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการหอบ ไอ มีเสมหะในลำคอ มีไข ร้อนใน กระหายน้ำ

6. รสเผ็ดร้อน ได้แก่ พริก พริกไทย ขิง ข่า ตะไคร้ หอม กระเทียม เป็นต้น เป็นอาหารรสที่ช่วยขับลม

     แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยดับกลิ่นคาว ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีไข้ ตัวร้อน หรือเป็นไข้ออกผื่น

7. รสเปรี้ยว ได้แก่ มะนาว ยอดมะขามอ่อน มะขามเปียก ใบชะมวง เป็นต้น เป็นอาหารรสที่ช่วยแก้ไอ

     ขับเสมหะ แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยในการระบาย ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีไข้ หรือท้องเสีย

8. รสหอมเย็น ได้แก่ ดอกมะลิ ใบเตย ดอกเก็กฮวย เป็นต้น เป็นอาหารรสที่ช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงครรภ์

     บำรุงกำลัง แก้อาการกระหายน้ำ ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ธาตุพิการ จุกเสียดแน่นท้อง หรือโลหิตเป็นพิษ

     จากการคลอด

นอกจากการเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับโรค กับอาการเจ็บป่วยต่างๆแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงนั่นคือ การรับประทานอาหารให้หลากหลาย และเหมาะสม ไม่ควรรับประทานอาหารเดิมซ้ำๆ เนื่องจากจะทำให้ไม่ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน สมดุลของธาตุในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจทำให้ร่างกายมีอาการเจ็บป่วยตามมาได้

 

บทสรุป

การใช้ชีวิตในปัจจุบัน ท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 การมีสติ รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง การเตรียมความพร้อมทั้งร่างกาย และจิตใจ เป็นส่วนสำคัญในการป้องกันตนเองและเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น แนวคิดตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถนำไปปรับเป็นแนวปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันได้ ทั้งเรื่องการเข้าใจถึงสภาวะธาตุทั้ง 4 ในร่างกายอันได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ การเปลี่ยนแปลงของร่างกายตามหลักธาตุกำเนิดสมุฏฐาน ที่มีการเปลี่ยนแปลงหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา การเลือกรับประทานและใช้สมุนไพรอย่างเหมาะสมกับโรคและอาการผิดปกติของร่างกาย นั้นมีส่วนให้ร่างกายเกิดภาวะสมดุล แข็งแรง และปลอดภัยจากการติดเชื้อไวรัส COVID-19

 

ข้อคิดที่ได้รับ

  1. ได้รับความรู้เรื่องการตรวจรักษาและการบำบัดรักษาโรคด้านศาสตร์การแพทย์แผนไทย
  2. ได้รับความรู้เรื่องหลักการดูแลสุขภาพตนเองเพื่อป้องกันจากการติดเชื้อไวรัสCOVID-19 ทางการแพทย์แผนไทย โดยยึดหลักธรรมานามัย
  3. ได้รับความรู้เรื่องหลักการใช้สมุนไพรและการเลือกรับประทานอาหารตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยเพื่อดูแลรักษาสุขภาพตนเองให้แข็งแรง

 

ผู้ถอดบทเรียน

  1. น.ส.ศิรินทรา นิยาภรณ์ พยาบาลประจำหน่วยตรวจผู้ป่วยนอกแพทย์ทางเลือก
  2. นางอภิญญา ปู่โฉด พยาบาลประจำหน่วยตรวจผู้ป่วยนอกแพทย์ทางเลือก